ผลของการให้ความร้อนแบบไดอิเล็กทริกต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำมันจากเมล็ดงาขี้ม้อน
ปกรณ์ สุวรรณโสภณ
วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2555.
2555
บทคัดย่อ
การให้ความร้อนแบบไดอิเล็กทริกเป็นความร้อนที่เกิดจากการสั่นของโมเลกุลแบบมีขั้วของวัสดุ ที่ได้รับพลังงานจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ในงานศึกษานี้ใช้ คลื่นไมโครเวฟ โดยใช้เครื่อง อบไมโครเวฟที่ดัดแปลงให้สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ ศึกษาเปรียบเทียบกับการให้ความร้อนแบบลมร้อน ที่อุณหภูมิ 3 ระดับ คือ 40, 50 และ 60 องศาเซลเซียส ทดลองกับเมล็ดงาขี้ม้อน ซึ่งมีความชื้นเริ่มต้นร้อยละ 23 (มาตรฐานเปียก)ระเหยน้ำจนมีความชื้นสุดท้ายร้อยละ 7 (มาตรฐานเปียก)ผลิตภัณฑ์แห้งถูกนำไปสกัดน้ำมันและทำการวิเคราะห์ผลของเทคนิคและอุณหภูมิที่มีต่อ ระยะเวลาในการลดความชื้น สมบัติของเมล็ดงาขี้ม้อนหลังการลดความชื้น (ความชื้นสุดท้าย ปริมาณน้ำอิสระและสี)ปริมาณน้ำมันที่สกัดได้ สมบัติทางกายภาพ (ความหนืด ความถ่วงจำเพาะ และสีของน้ำมัน) และเคมี (ค่าไอโอดีน ค่าซาปอนนิฟิเคชัน ค่าของกรด ค่าเปอร์ออกไซด์ ปริมาณสารที่ระเหยได้และปริมาณเบตา-แคโรทีน) ของน้ำมันที่สกัดได้ ผลการศึกษาพบว่า เทคนิคการให้ความร้อนแบบไดอิเล็กทริกใช้เวลาในการลดความชื้นน้อยกว่าแบบลมร้อน แต่ปริมาณน้ำมันที่สกัดได้มากกว่า นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติทางกายภาพของเมล็ดงาขี้ม้อนภายหลังการลดความชื้น รวมถึงสมบัติทางกายภาพและสมบัติทางเคมีของน้ำมันน้อยกว่าการให้ความร้อนแบบลมร้อนเมื่อเปรียบเทียบที่อุณหภูมิเดียวกัน