บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยและสารโซเดียมไดคลอโรไอโซไซยานูเรทร่วมกับน้ำตาลทรีฮาโลสในการลดปริมาณจุลินทรีย์ในน้ำยาปักแจกันและปรับปรุงคุณภาพของกุหลาบตัดดอกพันธุ์ ‘Grand Gala’

กาญจนา วรราษฎร์

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี. 2555.

2555

บทคัดย่อ

ประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยและสารโซเดียมไดคลอโรไอโซไซยานูเรทร่วมกับน้ำตาลทรีฮาโลสในการลดปริมาณจุลินทรีย์ในน้ำยาปักแจกันและปรับปรุงคุณภาพของกุหลาบตัดดอกพันธุ์ ‘Grand Gala’

การศึกษาการควบคุมปริมาณจุลินทรีย์ในน้ำยาปักแจกันของกุหลาบตัดดอกพันธุ์ ‘Grand Gala’ โดยใช้น้ำมันหอมระเหยจากพืชสมุนไพร 9 ชนิด คือ Citrus bergamia(มะกรูดฝรั่ง), Cymbopogon nardus(ตะไคร้หอม), Cinnamomum zeylanicum(อบเชยเทศ), Citrus hystrix(มะกรูดไทย), Citrus limetta(มะนาวเขียว), Cymbopogon citratus(ตะไคร้บ้าน), Mentha piperita(เปปเปอร์มิ้นท์), Ocimum basilicum (โหระพา) และMelaleuca alterifofia(ทีทรี) ที่ระดับความเข้มข้น 1,000,000 ppm (100%) ด้วยวิธี disc diffusion methodพบว่า ชนิดของน้ำมันหอมระเหยมีผลต่อการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำยาปักแจกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง (p≤0.01)โดยน้ำมันหอมระเหย tea treeสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำปักแจกันได้ดีที่สุด รองลงมาคือ น้ำมันหอมระเหยอบเชยเทศ โดยสามารถยับยั้งเชื้อได้ 2.29 และ 2.21 เท่า ตามลำดับ เมื่อเทียบกับชุดควบคุมที่ใช้น้ำกลั่น อย่างไรก็ตาม ระดับความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ (minimal inhibitory concentration; MIC) ของน้ำมันหอมระเหยอบเชยเทศและเปปเปอร์มิ้นท์ คือ 5,000 ppmนอกจากนั้น การศึกษาความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยที่เหมาะสมในการลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำยาปักแจกันในหลอดทดลอง โดยใช้น้ำมันหอมระเหยอบเชยเทศ ที่ความเข้มข้น 0, 2,500, 5,000,7,500และ 10,000 ppmผสมกับเชื้อจุลินทรีย์ที่ความเข้มข้น 108 CFU/ml และนำไปบ่มที่อุณหภูมิ  37 C นาน 0, 1, 2, 3, 4, 5, 6 และ 12 ชั่วโมง พบว่า น้ำมันหอมระเหยอบเชยเทศที่ความเข้มข้น 10,000 ppm ในชั่วโมงที่ 6 ของการบ่มเชื้อ มีประสิทธิภาพในการลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีที่สุด เมื่อนำมาวัดการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์โดยการหาค่า Optical Density (OD625) พบว่า น้ำมันหอมระเหยอบเชยเทศที่ความเข้มข้น 10,000 ppm สามารถชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ในระยะ log phase ได้ดีที่สุด โดยในชั่วโมงที่ 6 มีค่า OD625 เท่ากับ 0.317 ตามลำดับ ในขณะที่ชุดควบคุมมีค่า OD625 เท่ากับ 1.661

จากการศึกษาผลของการ pulsing และการ holding ด้วยน้ำมันหอมระเหยและสารโซเดียมไดคลอโรไอโซไซยานูเรท(DICA) ต่อการลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์และการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของดอกกุหลาบพันธุ์ ‘Grand Gala’ พบว่า วิธีการ holding มีประสิทธิภาพในการยืดอายุการปักแจกันของดอกกุหลาบมากกว่าวิธีการ pulsingโดยดอกกุหลาบที่ทำการ holding ในสารละลาย DICA ที่ความเข้มข้น 50 ppmสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีที่สุด และมีผลไปชะลอการลดลงของอัตราการดูดน้ำ  การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสด  ปริมาณคลอโรฟิลล์ทั้งหมดในใบ  ลดการเกิด blueing ของกลีบดอกกุหลาบและเพิ่มการบานของดอกได้  ไม่มีผลต่ออัตราการหายใจ แต่เพิ่มการผลิตเอทิลีน และไม่สามารถชะลอการลดลงของปริมาณแอนโทไซยานิน ดังนั้น ดอกกุหลาบที่ทำการ holding ในสารละลาย DICAที่ความเข้มข้น 50 ppm มีอายุการปักแจกันนานที่สุด เท่ากับ 6.1 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม (น้ำกลั่น) คือ 4.4 วัน

การศึกษาผลของการholding ด้วยน้ำมันหอมระเหยและสาร DICA ร่วมกับน้ำตาลทรีฮาโลสต่อการลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์และการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของดอกกุหลาบพันธุ์ ‘Grand Gala’พบว่า ดอกกุหลาบที่ทำการ holding ในสารละลาย DICA ที่ความเข้มข้น 50 ppmร่วมกับน้ำตาลทรีฮาโลสที่ความเข้มข้น 2% สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้ดีที่สุด รองลงมา คือ ดอกกุหลาบที่ทำการ holding ในสารละลาย Floralife®นอกจากนั้น การใช้สารส่งเสริมคุณภาพทั้งสองชนิดนี้ ยังสามารถชะลอการลดลงของอัตราการดูดน้ำ การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักสด  ปริมาณคลอโรฟิลล์ทั้งหมดในใบ  ลดการเกิด blueing ของกลีบดอกกุหลาบและเพิ่มการบานของดอกได้  แต่ไม่มีผลต่ออัตราการหายใจ การผลิตเอทิลีน ปริมาณแอนโทไซยานิน ดังนั้น ดอกกุหลาบที่ทำการ holding ในสารละลาย Floralife®และสารละลาย DICA ที่ความเข้มข้น 50 ppmร่วมกับน้ำตาลทรีฮาโลสที่ความเข้มข้น 2% มีอายุการปักแจกันนานที่สุด เท่ากับ 7.8 และ 7.6 วัน ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับชุดควบคุม (น้ำกลั่น) คือ 4.9 วัน