บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาสถานะภาพการใช้งาน การผลิตและประสิทธิภาพของมีดกรีดยางพาราที่จำหน่ายภายในประเทศ

สหรัตน์ วงษ์ศรีษะ ชานนท์ มูลวรรณ สมเดช อิงคะวะระ และสมนึก วัฒนศรียกุล

การประชุมวิชาการสมาคมวิศวกรรมเกษตรแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4. วิศวกรรมเกษตรและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน วันที่ 13-14 มีนาคม 2546. ณ เคยู โฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน. เลขหน้า 130. (666 หน้า)

2547

บทคัดย่อ

การศึกษาสถานะภาพการใช้งาน การผลิตและประสิทธิภาพของมีดกรีดยางพาราที่จำหน่ายภายในประเทศ  การศึกษาและวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาสถานะภาพการใช้มีดกรีดยางพาราในเขตจังหวัดภาคใต้ ศึกษาสมบัติทางกล ชนิดของวัสดุ รูปทรงและขนาด ราคาจำหน่าย รวมถึงกระบวนการผลิตมีดกรีดยาง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนการผลิตยางในประเทศไทย การศึกษาขั้นต้น กำหนดพื้นที่สำรวจได้แก่ จังหวัดพัทลุง ตรัง สงขลา ยะลา นราธิวาส สุราษฏร์ธานีและนครศรีธรรมราช โดยทำการสำรวจการใช้งาน ชนิดมีดกรีดยางพารา ราคา และสำรวจการจำหน่ายมีดกรีดยางและการใช้มีดกรีดยางจากชาวสวนยางโดยตรง ต่อจากนั้นทำการศึกษาย้อนรอยถึงสมบัติต่างๆ ของมีดกรีดยางที่จำหน่ายในเขตจังหวัดข้างต้นไม่น้อยกว่า 5 ยี่ห้อ (ตราผลิตภัณฑ์) เพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างของแต่ละยี่ห้อ และศึกษากระบวนการผลิต

การสำรวจสถานะภาพโดยออกแบบสอบถามในพื้นที่สวนยาง จำนวน 111 ราย ขนาดสวนยาง ตั้งแต่ 5 ไร่ ถึง 35 ไร่ ปรากฏว่า อายุการใช้งานโดยประมาณอยู่ในช่วง 7 ถึง 11 เดือน ปัญหาการใช้งานส่วนใหญ่ คมมีดหักง่าย สึกหรอหรือเสื่อมสภาพเร็ว สำรวจตลาดพบว่าราคามีดกรีดยางต่ำสุด 35 บาท สูงสุด 230 บาท สัดส่วนตลาดของแต่ละยี่ห้อ ต่ำสุด 0.5% สูงสุด 28%

การทดสอบสมบัติทางกลพบว่า ความแข็งต่ำสุด 38 HRC แต่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 53.5 HRC ถึง 66 HRC สูงสุด 66 HRC ส่วนผสมทางเคมี ส่วนใหญ่มีธาตุต่างๆ ผสมได้แก่ คาร์บอน 0.32-0.7% ซิลิกอน 0.22-0.25% แมงกานีส 0.73-0.89% ไม่มีสารเจือ หมายถึงผลิตจากเหล็กกล้าคาร์บอนที่มีเปอร์เซ็นต์คาร์บอนต่างกัน การศึกษากระบวนการผลิตมีดกรีดยางพบว่าการผลิตมีกระบวนการแตกต่างกันจากผู้ผลิตแต่ละโรงงาน

ผลการวิจัยสรุปได้ว่ามีดกรีดยางที่จำหน่ายราคาโดยเฉลี่ย 93 บาท อายุการใช้งานโดยเฉลี่ย 9 เดือน พบว่า วัสดุเหล็กกล้าผลิตมีดกรีดยางที่มีเปอร์เซ็นต์คาร์บอนต่ำสุดมีความแข็งต่ำสุดเช่นกัน และพบว่าโครงสร้างจุลภาคของมีดกรีดยางมีความไม่สม่ำเสมอ แสดงว่าการควบคุมกระบวนการชุบแข็งไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการสึกหรอและแตกหักง่าย จากการตรวจสอบยังไม่พบมาตรฐานในประเทศที่กำหนดคุณลักษณะของมีดกรีดยางซึ่งผลสำรวจนี้น่าจะเป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดมาตรฐานมีดกรีดยางได้ ซึ่งจะส่งผลดีอย่างยิ่งต่อเกษตรกร