ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณลิกนินและการแข็งตัวของเปลือกผลมังคุดหลังการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ
ศิริวรรณ แดงฉ่ำ และสายชล เกตุษา
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 4. 4-7 พฤษภาคม 2547 ณ โรงแรมเจบีหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา. เลขหน้า 65. (196 หน้า)
2547
บทคัดย่อ
ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณลิกนินและการแข็งตัวของเปลือกผลมังคุดหลังการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ
การเก็บรักษาผลมังคุดวัยสีชมพูและสีม่วงแดงที่อุณหภูมิ 6 และ 12 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 0, 3, 6, 9, 12 และ 15 วัน พบว่า ความแน่นเนื้อของเปลือกผลค่อนข้างคงที่จนถึงวันที่ 12 หลังการเก็บรักษา จากนั้นจึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว การเก็บรักษาผลมังคุดที่อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียสทำให้ผลมังคุดมีความแน่นเนื้อของเปลือกมากกว่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส ผลมังคุดที่ผ่านการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำเป็นเวลา 9 วัน แล้วย้ายมาเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิห้องทำให้ความแน่นเนื้อของเปลือกผลมังคุดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำเป็นเวลานานขึ้น ยิ่งทำให้เปลือกผลมังคุดมีความแน่นเนื้อมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบวัยของผลมังคุด พบว่าผลมังคุดวัยสีม่วงแดงมีความแน่นเนื้อของเปลือกสูงกว่าวัยสีชมพูทั้งในการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและการย้ายมาเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิห้อง การเก็บรักษาผลมังคุดวันสีม่วงแดงที่อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียสในสภาพบรรยากาศที่มีและไม่มีออกซิเจน พบว่า ความแน่นเนื้อของเปลือกและปริมาณลิกนินของผลมังคุดไม่ต่างกัน เมื่อนำผลมังคุดที่ผ่านการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำทั้งในสภาพบรรยากาศที่มีและไม่มีออกซิเจนมาเก็บรักษาต่อในสภาพอุณหภูมิห้องปกติ ความแน่นเนื้อของเปลือกและปริมาณลิกนินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีความแตกต่างทางสถิติ ผลมังคุดวัยสีม่วงแดงที่ผ่านการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 9 วัน แล้วย้ายมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องในสภาพที่มีและไม่มีออกซิเจนเป็นเวลา 0, 1, 2 และ 3 วัน พบว่า ความแน่นเนื้อของเปลือกเพิ่มขึ้นตลอดการเก็บรักษา แต่ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ทั้งนี้ความแน่นเนื้อของเปลือกผลมังคุดที่อยู่ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจนมีมากกว่าผลมังคุดที่อยู่ในสภาพที่มีออกซิเจน ในขณะที่การเก็บรักษาในสภาพที่มีออกซิเจนมีปริมาณลิกนินสูงกว่าการเก็บรักษาในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน