บทคัดย่องานวิจัย

ความสัมพันธ์ระหว่างอาการสะท้านหนาวกับปริมาณแอนติออกซิแดนท์และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในผลมะม่วงสามพันธุ์

สุทิน กันยะมี และจริงแท้ ศิริพานิช

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 4. 4-7 พฤษภาคม 2547 ณ โรงแรมเจบีหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา. เลขหน้า 66. (196 หน้า)

2547

บทคัดย่อ

ความสัมพันธ์ระหว่างอาการสะท้านหนาวกับปริมาณแอนติออกซิแดนท์และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในผลมะม่วงสามพันธุ์ การศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างอาการสะท้านหนาวของผลมะม่วงกับปริมาณสารแอนติออกซิแดนท์ในผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง โชคอนันต์และหงสาวดี พบว่าหลังการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 °ซ เป็นเวลา 14 วัน พันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและโชคอนันต์เกิดอาการสะท้านหนาวที่เปลือกมาก แต่พันธุ์หงสาวดีเกิดอาการที่เปลือกน้อยมาก นอกจากนี้พันธุ์น้ำดอกไม้สีทองเกิดอาการที่เนื้อติดเมล็ดร่วมด้วย ส่วนที่ 13°ซ เกิดอาการสะท้านหนาวเฉพาะที่เนื้อติดเมล็ดของพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบความบริบูรณ์ของผล พันธุ์น้ำดอกไม้สีทองเกิดอาการสะท้านหนาวในผลที่มีความบริบูรณ์เต็มที่มากกว่าผลที่อ่อนกว่า ตรงข้ามกับโชคอนันต์ที่มีผลอ่อนกว่าเกิดอาการสะท้านหนาวในผลที่มีความบริบูรณ์เต็มที่ ส่วนหงสาวดีเกิดอาการใกล้เคียงกันทั้งสองระยะ เมื่อวิเคราะห์ total antioxidant capacity (TAC) พบว่า ในเปลือกผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองมี TAC มาก ส่วนพันธุ์โชคอนันต์และหงสาวดีมีน้อยใกล้เคียงกัน สำหรับในเนื้อผล พันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและโชคอนันต์มีปริมาณ TAC ใกล้เคียงกันและน้อยกว่าพันธุ์หงสาวดี ปริมาณไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในเปลือกผลของพันธุ์โชคอนันต์มีมาก ในขณะที่พันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและหงสาวดี มีน้อยและใกล้เคียงกัน ส่วนเนื้อของทั้งสามพันธุ์ไม่พบไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์เลย ดังนั้นปริมาณแอนติออกซิแดนท์และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์จึงไม่สัมพันธ์กับการเกิดอาการสะท้านหนาวในผลมะม่วงเมื่อเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิต่ำ เมื่อผลสุกหลังนำออกจากการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมายังอุณหภูมิปกติ ผลมะม่วงทั้งสามพันธุ์เกิดอาการสะท้านหนาวที่เปลือกเพิ่มมากขึ้น โดยพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองเกิดอาการที่เนื้อติดเมล็ดเพิ่มขึ้นเมื่อสุกเช่นกัน การวิเคราะห์ปริมาณ TAC และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ในผลมะม่วงสุก พบว่าไม่สัมพันธ์กับอาการสะท้านหนาว เช่นเดียวกับผลที่ยังไม่สุกหลังนำออกมาจากการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ