บทคัดย่องานวิจัย

กิจกรรมของเอนไซม์ cell wall hydrolase ระหว่างการหลุดร่วงของดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์มีสทีนที่ถูกชักนำด้วยเอทิลีนหลังการตัดดอก

กนกพร บุญญะอติชาติ และสายชล เกตุษา

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 11 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

กิจกรรมของเอนไซม์ cell wall hydrolase ระหว่างการหลุดร่วงของดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์มีสทีนที่ถูกชักนำด้วยเอทิลีนหลังการตัดดอก การทดลองให้เอทิลีนที่ระดับความเข้มข้น 0.4 ppm กับช่อดอกกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์มีสทีน (D. ‘Missteen’) ที่อุณหภูมิ 25 °(ความชื้นสัมพัทธ์ 85%) เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้ดอกตูมของกล้วยไม้หวายมีสทีนมีการร่วงมากในขณะที่ดอกบานไม่มีการร่วง เมื่อพิจารณากิจกรรมของเอนไซม์ในกลุ่ม cell wall hydrolase ได้แก่ polygalacturonase (PG), pectinesterase (PE) และ cellulase (Cx) ของดอกกล้วยไม้พันธุ์มีสทีนที่บริเวณเนื้อเยื่อข้อต่อระหว่างก้านดอกกับก้านช่อดอกซึ่งเป็นที่เกิดการร่วง (abscission) ด้วยเทคนิค Tissue print และ Reducing sugar พบว่ามีการแสดงออกของกิจกรรมของเอนไซม์ PG PE และ Cx ที่วัดด้วยเทคนิค Tissue print ทั้งในดอกตูมและดอกบาน แต่ไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างทรีตเมนต์ เมื่อเทียบกับการทดลองที่วัดกิจกรรมด้วยวิธี reducing sugar พบว่าสามารถตรวจสอบการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมของเอนไซม์กลุ่ม cell wall hydrolase ได้อย่างชัดเจน โดย Cx และ PG มีกิจกรรมเพิ่มมากขึ้นและสัมพันธ์โดยตรงกับการร่วงของดอกตูม ส่วนกิจกรรม PE ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่วงของดอกตูม ขณะที่การให้เอทิลีนไม่ได้เพิ่มกิจกรรมของ PG และ PE ในดอกบาน แต่เพิ่มกิจกรรม Cx ในดอกบานแต่ไม่ทำให้ดอกบานร่วง