บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสาร Gibberellic acid (GA3) ต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของผนังเซลล์และกิจกรรมของเอนไซม์ระหว่างการแตกของผลทุเรียน

ลำแพน ขวัญพลู และจริงแท้ ศิริพานิช

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 37.

2548

บทคัดย่อ

ผลของสาร Gibberellic acid (GA3) ต่อการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของผนังเซลล์และกิจกรรมของเอนไซม์ระหว่างการแตกของผลทุเรียน

การแตกของผลทุเรียนเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ราคาของผลทุเรียนตกต่ำลง บ่อยครั้งมักพบปัญหานี้เมื่อส่งทุเรียนออกจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้อายุการเก็บรักษาและอายุการวางจำหน่ายสั้น ดังนั้นวิธีการที่สามารถชะลอการแตกของผลทุเรียนโดยที่คุณภาพการรับประทานยังเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่ควรศึกษา การศึกษาครั้งนี้พบว่าทรีตเมนท์ที่ได้รับการพ่นสาร gibberellic acid (GA3) ความเข้มข้น 50 พีพีเอ็ม สามารถชะลอการแตกเป็นเวลา 4 วัน ลดการสูญเสียน้ำ และชะลอการเปลี่ยนสีเปลือก เมื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของเพคติน พบว่าปริมาณเพคตินที่ละลายได้ในน้ำเพิ่มสูงขึ้นตลอดการเก็บรักษา แต่ไม่แตกต่างระกว่างทรีตเมนท์ที่ได้รับและไม่ได้รับการพ่นสาร GA3 แต่กลับพบความแตกต่างของเพคตินที่ละลายได้ในสารละลาย CDTA และสารละลาย Na2CO3 โดยปริมาณเพคตินที่ละลายได้ในสารละลาย CDTA สูงในทรีตเมนท์ที่ได้รับการพ่นสาร GA3 และลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดการเก็บรักษา ขณะที่ปริมาณเพคตินที่ละลายได้สารละลาย Na2CO3 กลับมีปริมาณต่ำ และเมื่อวัดกิจกรรมของเอนไซม์ระหว่างการเก็บรักษา พบว่าทรีตเมนท์ที่ได้รับการพ่นสาร GA3 มีกิจกรรมของเอนไซม์ polygalacturonase (PG) และ endoglucanase (EGase) ต่ำกว่าทรีตเมนท์ที่ไม่ได้รับการพ่นสาร GA3 อย่างชัดเจน จึงเห็นได้ว่าการพ่นสาร GA3 สามารถลดการย่อยสลายของเพคตินซึ่งเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ อีกทั้งยังไปลดกิจกรรมของเอนไซม์ PG และ EGase ส่งผลให้เกิดการแตกของพูช้าลง