ผลของออกซิเจนปริมาณต่ำต่อการแข็งตัวของเปลือกผลมังคุดระหว่างและหลังเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ
ศิริวรรณ แดงฉ่ำ และสายชล เกตุษา
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 38 (276 หน้า)
2548
บทคัดย่อ
การเก็บรักษาผลมังคุดวัยสีม่วงแดงที่อุณหภูมิ 6°ซ. (ความชื้นสัมพัทธ์ 84.0%) ในสภาพอากาศปกติและสภาพที่มีออกซิเจนปริมาณต่ำ (0.25%) เป็นเวลา 0, 3, 6 และ 9 วัน แล้วย้ายมาเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิห้อง (อุณหภูมิ 30.0°ซ., ความชื้นสัมพัทธ์ 71.5%) เป็นเวลา 3 วัน พบว่า ความแน่นเนื้อและปริมาณลิกนินของเปลือกผลมังคุดเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณฟินอลิกลดลง ผลมังคุดที่เก็บรักษาในภาพอากาศปกติและสภาพที่มีออกซิเจนปริมาณต่ำที่เก็บรักษาในห้องเย็นและย้ายมาเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิห้อง พบว่า ความแน่นเนื้อ ปริมาณลิกนินและฟีนอลิกในเปลือกผลไม่ต่างกัน เมื่อย้ายผลมังคุมที่ผ่านการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำมาเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิห้อง พบว่า มีกิจกรรมของเอนไซม์ phenylalanine ammonia lyase (PAL) และ peroxidase (POD) สูงกว่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 6°ซ. ผลมังคุดที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำเป็นเวลา 9 วันแล้วย้ายไปเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิห้องในสภาพอากาศปกติและสภาพที่มีออกซิเจนปริมาณต่ำ พบว่าความแน่นเนื้อและปริมาณลิกนินของเปลือกผลมังคุดเพิ่มขึ้น กิจกรรมของเอนไซม์ PAL และ POD ในเปลือกผลมังคุดที่ย้ายมาเก็บรักษาในสภาพอากาศปกติสูงกว่าการเก็บรักษาในสภาพออกซิเจนปริมาณต่ำ กิจกรรมของเอนไซม์ POD เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเก็บรักษาเป็นเวลานานขึ้น ในขณะที่กิจกรรมของเอนไซม์ cinnamyl alcohol dehydrogenase (CAD) ไม่เปลี่ยนแปลงทั้งในระหว่างและหลังการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ จากการทดลองสรุปว่าการแข็งตัวของเปลือกผลมังคุดเนื่องจากอุณหภูมิต่ำเกิดจากปริมาณลิกนินที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ออกซิเจนปริมาณต่ำไม่มีผลต่อการแข็งตัวของเปลือกผลมังคุดทั้งในระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำและหลังย้ายมาเก็บรักษาต่อที่อุณหภูมิห้อง