ลักษณะทางกายวิภาคของผลลำไย
สมคิด ใจตรง นิธยา รัตนาปนนท์ และดนัย บุณยเกียรติ
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 55 (276 หน้า)
2548
บทคัดย่อ
ลักษณะทางกายวิภาคของผลลำไย
ผลการศึกษาโครงสร้างของเปลือกผลลำไยพันธุ์ดอและเบี้ยวเขียวด้วยกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ (stereo microscope) กล้องจุลทรรศ์แบบเลนส์ประกอบ (compound microscope) กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด (scanning electron microscope; SEM) และกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดลำแสงส่องผ่าน (transmission electron microscope; TEM) พบว่าบริเวณผิวเปลือกด้านนอกของผลลำไยมีรูเปิดธรรมชาติและมีลักษณะเป็นรอยแตกทั่วทั้งผิวผล มีคิวติเคิลบางๆ ปกคลุมอย่างไม่ต่อเนื่อง มีไตรโคม (trichomes) กระจายอยู่เป็นกลุ่มบนผิวเปลือกผลลำไย และมีสโตมาตา (stomata) บริเวณที่มีไตรโคม เมื่อตัดเปลือกผลลำไยตามขวางและส่องดูด้วยกล้อง SEM พบว่าเปลือกผลลำไยมีความหนาประมาณ 550-700 ไมโครเมตร และเปลือกผลลำไยทั้ง 2 พันธุ์มีโครงสร้างคล้ายกัน สามารถแบ่งออกตามรูปร่างและเซลล์ได้เป็น 3 ชั้น ซึ่งแยกออกจากกันอย่างไม่ชัดเจน คือ เปลือกชั้นนอก (exocarp) เริ่มจากคิดติเคิลลงมา 2-3 ชั้น เซลล์ชั้นบนสุด (epidermis) ที่ติดกับคิวติเคิลและเซลล์ชั้นถัดลงมามีรูปร่างสี่เหลี่ยมที่จัดเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ เปลือกชั้นกลาง (mesocarp) มีความหนาประมาณ 70% ของความหนาเปลือก เป็นเซลล์ที่มีรูปร่างทั้งยาวรีและค่อนข้างกลมเรียงตัวกันอย่างไม่เป็นระเบียบ และมีช่องว่างระหว่างเซลล์ (intercellular spaces) ขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป และพบกลุ่มท่อน้ำ ท่ออาหาร และ stone cells เมื่อส่องดูด้วยกล้อง TEM พบว่าภายในเซลล์ของเปลือกชั้นกลางมีอวัยวะภายในเซลล์ (cell organelles) รวมทั้งไมโตคอนเดรีย ส่วน stone cells มีผนังเซลล์หนา และไม่พบอวัยวะภายในเซลล์ใดๆ อยู่ภายในเซลล์ เปลือกชั้นใน (endocarp) เป็นเซลล์รูปร่างสี่เหลี่ยมจัตุรัสชั้นเดียวเรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบ ขณะที่ผิวด้านในของเปลือกผลลำไยมีลักษณะเป็นคลื่นเล็กน้อยเมื่อส่องดูด้วยกล้อง SEM ส่วนเนื้องของผลลำไยพันธุ์ดอมีลักษณะเนื้อใสสีขาว พันธุ์เบี้ยวเขียวมีสีขาวขุ่น และพันธุ์ชมพูมีเนื้อสีขาวบนชมพู ซึ่งมีสารสีแดงแทรกตัวอยู่จากผิวด้านบนของเนื้อลงไปในเนื้อผลลำไยประมาณ 1 ใน 4 ของความหนาเนื้อ