ผลของสารละลาย BA ต่ออายุการใช้งานดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์
กัญญา เอี่ยมลออ อภิรดี อุทัยรัตนกิจ และผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 93 (276 หน้า)
2548
บทคัดย่อ
ผลของสารละลาย BA ต่ออายุการใช้งานดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์
การยืดอายุการปักแจกันของดอกปทุมมาพันธุ์ลัดดาวัลย์ด้วยสารละลาย BA 0.1 mM, BA 0.1 mM + 8-HQS 200 mg/L และ BA 0.1 mM + 8-HQS 200 mg/L + ซูโครสร้อยละ 10 และปรับ pH ของสารละลายเป็น 2 ระดับ คือ 3 และ 5 ทำการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส พบว่าการใช้น้ำยาปักแจกันทำให้ดอกปทุมมามีอายุการใช้งานของดอกสั้นกว่าการปักในน้ำกลั่นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปลายก้านดอกที่ปักในน้ำยาปักแจกันมีลักษณะลีบ และการเหี่ยวของปลายกลีบประดับ (comma bract) ที่แช่ในน้ำยาปักแจกันเกิดขึ้นเร็วกว่าการปักในน้ำกลั่น ยกเว้นในสารละลาย BA 0.1 mM + 8-HQS 200 mg/L + ซูโครส ร้อยละ 10, pH 5 มีลักษณะไม่แตกต่างกับการปักในน้ำกลั่น และสารละลายที่มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบมีแนวโน้มการสูญเสียน้ำหนักน้อยกว่าการปักในน้ำกลั่น การดูดน้ำของก้านดอกที่ปักในสารละลาย BA 0.1 mM + 8-HQS 200 mg/L มีแนวโน้มสูงกว่าสารละลายชนิดอื่นอย่างมีนัยสำคัญในวันที่ 7 และ 9 นอกจากนี้การปรับ pH ของสารละลายปักแจกันทำให้มีปริมาณจุลินทรีย์น้อยกว่าน้ำกลั่นอย่างมีนัยสำคัญ แต่อย่างไรก็ตามการใช้สารละลาย BA ร่วมกับ 8-HQS และน้ำตาลซูโครสไม่มีผลต่อการยืดอายุการใช้งานของดอกได้