การศึกษาระยะการเก็บเกี่ยวและการบรรจุหีบห่อต่ออายุการใช้งานของดอกเอื้องพร้าว (Phaius tankervilliae Blume.)
สริยาภรณ์ ศิริพงษ์ ทรงวุฒิ เพ็ชรประดับ ลักขณา เพ็ชรประดับ และธีรนุช เจริญกิจ
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 93. (276 หน้า)
2548
บทคัดย่อ
การศึกษาระยะการเก็บเกี่ยวและการบรรจุหีบห่อต่ออายุการใช้งานของดอกเอื้องพร้าว (Phaius tankervilliae Blume.)
การศึกษาระยะการเก็บเกี่ยวและการบรรจุหีบห่อที่มีต่อคุณภาพและอายุการใช้งานของดอกเอื้องพร้าว โดยใช้ช่อดอกที่เก็บเกี่ยวในระยะที่มีดอกบานบนช่อต่างกัน 4 ระยะ คือ ดอกตูมทั้งช่อ, ดอกบาน 1 ดอก, ดอกบาน 2 ดอก และดอกบาน 3 ดอก มาทำการบรรจุลงกล่องกระดาษในลักษณะที่ต่างกัน 4 แบบ คือ บรรจุลงกล่องเปล่า, บรรจุลงในกล่องที่มีกระดาษฝอย, ห่อช่อดอกด้วยพลาสติกแล้วบรรจุกล่องเปล่า และห่อช่อดอกด้วยพลาสติกแล้วบรรจุลงกล่องที่มีกระดาษฝอย ขนส่งจาก อ.ภูเรือ จ.เลย มายัง จ.เชียงใหม่ด้วยรถยนต์ปรับอากาศเป็นเวลา 8 ชั่วโมง จึงเปิดกล่องแล้วทำการตัดปลายก้านช่อดอกใต้น้ำเพียง 45° ให้มีความยาวก้านช่อดอกเท่ากันคือ 80 เซนติเมตร ปักลงในขวดที่บรรจุน้ำ บันทึกข้อมูลอายุการใช้งาน จากการทดลองพบว่า อิทธิพลของระยะการเก็บเกี่ยวมีผลต่ออายุการใช้งานของดอก โดยระยะที่มีดอกบาน 3 ดอกมีอายุการใช้งานนานที่สุด (11.8 วัน) รองลงมาคือระยะดอกบาน 2 และ 1 ดอก (11 และ 10.8 วัน ตามลำดับ) ส่วนระยะดอกตูมจะมีอายุการใช้งานสั้นที่สุด (9.8 วัน) ขณะเดียวกันพบว่า การบรรจุหีบห่อแบบต่างๆ มีผลต่ออายุการใช้งานของดอก คือ กล่องที่มีกระดาษฝอย (11.5, 11.2 และ 11.1 วัน ตามลำดับ) ส่วนการห่อช่อแล้วบรรจุในกล่องเปล่าทำให้ดอกมีอายุการใช้งานสั้นที่สุด (9.5 วัน) นอกจากนี้ ระยะการบานของดอกยังมีผลต่อการโค้งงอของปลายช่อดอกภายหลังการขนส่งโดยระยะที่มีดอกตูมทั้งช่อจะเกิดการโค้งงอของปลายช่อมากที่สุด (80%) รองลงมาคือระยะดอกบาน 1 ดอก (72.5%) ระยะดอกบาน 2 ดอก (57.5%) และระยะดอกบาน 3 ดอก (37.5%)