การศึกษาศักยภาพการตลาดดอกบัว
อุรสา บัวตะมะ และถนอมนวล สีหะกุลัง
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. หน้า 100. (276 หน้า )
2548
บทคัดย่อ
การศึกษาศักยภาพการตลาดดอกบัว
การทำนาบัวตัดดอก ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การดูแลรักษา การขนส่งสู่ตลาด จนกระทั่งการขาย สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีผลต่อคุณภาพของดอกบัว แม้ว่าพื้นที่เพาะปลูกบัวไม่มากนักแต่บัวตัดดอกก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มไม้ตัดดอกเชิงการค้าที่สำคัญ คือ ปากคลองตลาด ตลาดไท ตลาดค้าส่งสี่มุมเมือง เกษตรกรนาบัวจะใช้วิธีการนำดอกบัวไปขายด้วยตนเอง หรือขายให้พ่อค้าคนกลางซึ่งจะมีผู้มารับซื้อถึงบ้าน ทั้งนี้พ่อค้าคนกลางจะเป็นผู้กำหนดราคาและนำดอกบัวไปขายก่อนในช่วงวันพระหนึ่งและนำเงินมาจ่ายให้ในอีกวันพระหนึ่ง ราคาของดอกบัวแต่ละช่วงของปีจะไม่เท่ากัน ดอกบัวมีราคาดีในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และราคาต่ำในช่วงเมษายน-ตุลาคม ราคาดอกบัวโดยเฉลี่ยกำละ 10 บาท อย่างไรก็ตามดอกบัวจะมีราคาตั้งแต่กำละ 6 บาท ถึง 20 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับช่วงวันพระหรือช่วงเทศกาล เช่น เข้าพรรษาหรือช่วงวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ สำหรับการส่งออกดอกบัวไปจำหน่ายในต่างประเทศ จะได้ราคามากขึ้น โดยบัวดอกเล็กกำละ 20 บาท ขนาดกลางกำละ 30 บาท และขนาดใหญ่กำละ 40-50 บาท และถ้าหากเป็นช่วงฤดูหนาวจนถึงช่วงปีใหม่ราคาอาจจะถึงกำละ 60-80 บาท ในการส่งบัวดอกไปยังต่างประเทศ จะมีค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าตรวจเชื้อโรค รวมทั้งค่าบรรจุภัณฑ์ซึ่งจะดำเนินกานให้เบ็ดเสร็จ โดยฝ่ายโรคพืช กองควบคุมวัสดุเกษตร ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ประมาณ 50 บาท ต่อกล่องหรือแพ็ค พร้อมทั้งจัดส่งไปสนามบินให้ด้วย ประเทศผู้รับชื้อดอกบัวที่สำคัญ คือ ออสเตรีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น โดยมีพ่อค้าคนกลางเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเกษตรกรนาบัวกับตลาดต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งที่เกษตรกรนาบัวไปติดต่อและนำไปส่งปากคลองตลาดที่แหล่งจัดส่งผลผลิตทางการเกษตรไปยังต่างประเทศ และอีกส่วนหนึ่งคือ ไปรับซื้อถึงบ้านของเกษตรกรนาบัวทำให้ชาวนาบัวได้เรียนรู้ตลาดและความต้องการที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศไปด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทที่รับซื้อและส่งดอกบัวไปขายต่างประเทศ อยู่ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และมีเพียงไม่กี่รายซึ่งก็เป็นบริษัทที่ส่งดอกไม้ประเภทอื่นเป็นหลักมากกว่า