ผลของสารสกัดหยาบจากเปลือกและเนื้อผลของผักบางชนิดในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน
กอบเกียรติ แสงนิล ไพลินรัตน์ ชิณวังโส และกัมปนาท สุขนิตย์
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 130 (276 หน้า)
2548
บทคัดย่อ
ผลของสารสกัดหยาบจากเปลือกและเนื้อผลของผักบางชนิดในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชัน
จากการศึกษาผลของสารสกัดหยาบจากเปลือกและเนื้อผลที่มีสารประกอบฟินอลิคของผักจำนวน 11 ชนิด (18 สายพันธุ์) คือในวงศ์ Cucurbitaceae (9 ชนิด 12 สายพันธุ์) และวงศ์ Solanaceae (2 ชนิด 6 สายพันธุ์) ในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันโดยวิธีการฟอกจางสีของเบตา-แคโรทีนและวิเคราะห์ปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมดในสารสกัดหยาบนี้ด้วย Folin-Ciocalteu พบว่า สารสกัดหยาบจากเปลือกผลมีแอคติวิตีในการต้านปฏิกิริยาออกซิเดชันและปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมดสูงกว่าในเนื้อผล เมื่อเปรียบเทียบในวงศ์ Cucurbitaceae พบว่า สารสกัดหยาบจากเปลือกของฟักเขียวมีแอคตอวิตีในการต้านออกซิเดชันสูงสุด (85%) ส่วนในวงศ์ Solanaceae พบว่าสารสกัดจากเปลือกผลมะเขือเปราะ มะเขือม่วงก้านดำ มะเขือเจ้าพระยา และมะเขือยาวเขียว มีแอคติวิตีในการต้านออกซิเดชันสูง (75-83%) ส่วนปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมดมีค่าต่างกันมากในตัวอย่างพืชแต่ละชนิดและมีค่าตั้งแต่ 4.34 ถึง 440.97 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมต่อน้ำหนักสด โดยที่ไม่มีความสัมพันธ์กันโดยตรงระหว่างปริมาณสารประกอบฟีนอลิคทั้งหมดและแอคติวิตีในการต้านออกซิเดชันในสารสกัดหยาบ (R2 = 0.376) เมื่อนำสารสกัดหยาบจากผักทั้ง 5 สายพันธุ์มาแยกชนิดของสารประกอบฟีนอลิคด้วยวิธีโครมาโทรแกรมโดยดูการเรืองแสงภายใต้แสงอุตราไวโอเลตที่ความยาวคลื่น 254 นาโนเมตร รวมทั้งทดสอบการเกิดสีบนโครมาโทรแกรมด้วยเฟอร์ริกคลอไรด์ พบว่า สามารถแยกชนิดสารประกอบฟีนอลิคจากเปลือกและเนื้อผลได้ 5 แถบ (R1 = 0.44, 0.50, 0.58, 0.71 และ 0.97) และ 4 แถบ (R1 = 0.41, 0.50, 0.71 และ 0.97) ตามลำดับ และยังพบว่าแอคติวิตีในการต้านออกซิเดชันของสารประกอบฟีนอลิคแต่ละชนิดมีความแตกต่างกันมากในสารสกัดหยาบจากผักแต่ละสายพันธุ์ โดยแถบสารที่มี R1 = 0.44 ที่แยกได้จากเปลือกผลมะเขือเปราะมีแอคติวิตีในการต้านออกซิเดชันสูงสุด