ปริมาณไนเตรตและไนไตรต์ในผักที่จำหน่ายในท้องตลาด
จรงค์ศักดิ์ พุมนวน และลักขณา อมรสิน
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 163 (276 หน้า)
2548
บทคัดย่อ
ปริมาณไนเตรตและไนไตรต์ในผักที่จำหน่ายในท้องตลาด
การตรวจวิเคราะห์ปริมาณไนเตรตและไนไตรต์ในผัก 25 ชนิด ที่สุ่มจากตลาดขายส่งในกรุงเทพมหานคร 3 ตลาด คือ ตลาดไท สี่มุมเมือง และปากคลองตลาด ระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.47 โดยใช้เครื่อง spectrophotometer พบว่าปริมาณไนเตรตและไนไตรต์ในตัวอย่างผักชนิดเดียวกันที่สุ่มเก็บจากทั้ง 3 ตลาด มีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.05) โดยตัวอย่างผักทุกชนิดมีปริมาณไนเตรตสูงกว่าไนไตรต์มาก ผักที่ใช้ใบเพื่อการบริโภคมีปริมาณไนเตรตและไนไตรต์สูงกว่าผักบริโภคหัว ผล และหน่อเป็นอาหาร โดยผักกินใบ เช่น กวางตุ้ง และผักบุ้งจีน มีปริมาณไนเตรตสูงคือ 1,799+818 และ 1,548+178 มก./กก. ตามลำดับ ผักกินใบที่มีปริมาณไนเตรตรองลงมาได้แก่คื่นฉ่าย คะน้า ผักชี กุยช่าย กระเพรา ต้นหอม ผักกาดหอม ผักกาดขาว ชะอม และกะหล่ำปลี มีปริมาณไนเตรตระหว่าง 316+39-1,013+281 มก./กก. ผักกินหัว ผล และหน่อ เช่น หัวใชเท้า หอมหัวใหญ่ แครอท ข้าวโพดอ่อน มะเขือเปราะ แตงกวา มะเขือยาว บวบเหลี่ยม บวบงู ถั่วฝักยาว มะระ หน่อไม้ และหน่อไม้ฝรั่ง มีปริมาณไนเตรตต่ำคือ ระหว่าง 153+40-576+103 มก./กก. ผักที่มีปริมาณไนไตรต์สูง คือ ผักชี ผักกวางตุ้ง คะน้า ผักบุ้งจีน และคื่นฉ่าย มีปริมาณไนไตรต์ 95.6+65.9, 91.1+10.5, 90.3+22.4, 85.2+72.3 และ 72.1+61.8 มก./กก. ตามลำดับ ผักที่มีปริมาณไนไตรต์รองลงมาได้แก่ กุยช่าย กระเพรา ต้นหอม ผักกาดหอม ผักกาดขาว และกะหล่ำปลี มีปริมาณไนไตรต์ระหว่าง 11.13+17.2-44.0+39.2 มก./กก. ส่วนผักที่มีปริมาณไนไตรต์ต่ำกว่า 10 มก./กก. ได้แก่ ชะอม หัวใชเท้า หอมหัวใหญ่ แครอท ข้าวโพดอ่อน มะเขือเปราะ แตงกวา มะเขือยาว บวบเหลี่ยม บวบงู ถั่วฝักยาว มะระ หน่อไม้ และหน่อไม้ฝรั่ง