การเปลี่ยนแปลงคุณภาพของกะเพราที่เก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปลงที่อุณหภูมิต่ำ
ชวนพิศ จิระพงษ์ วานิช ศรีละออง และเฉลิมชัย วงษ์อารี
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 164 (276 หน้า)
2548
บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงคุณภาพของกะเพราที่เก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปลงที่อุณหภูมิต่ำ
กะเพรา (Ocimum sanctum L.) เป็นพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมระเหยเฉพาะตัวซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหารไทยหลากหลายชนิดและมีปริมาณการส่งออกสูงขึ้นทุกปี แต่กะเพราเกิดอาการเหี่ยวและสูญเสียอย่างรวดเร็วภายหลังการเก็บเกี่ยว การยืดอายุการเก็บรักษากะเพราเชียวทั้งกิ่งในถุงพลาสติกปิดสนิทชนิดโพลีเอทิลีนความหนา 12 ไมครอน ขนาด 20x45 ซ.ม. ที่ไม่เจาะรูและเจาะ 4 รู (เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.7 ซ.ม.) ต่อถุงโดยมีน้ำหนักเฉลี่ย 80 กรัมต่อถุง แล้วนำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 3 ระดับ คือ 4, 8 และ 13°ซ ความชื้นสัมพัทธ์ในห้องเก็บรักษาร้อยละ 86+3 พบว่ากะเพราที่เก็บรักษาในถุงเจาะรูมีการสูญเสียน้ำหนักและเกิดอาการสะท้านหนาวมากกว่ากะเพราในถุงปิดสนิท อาการสะท้านหนาวที่พบในใบมี 2 ลักษณะคือ อาการฉ่ำน้ำและการเกิดจุดน้ำตาลซึ่งจะขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเก็บรักษานานขึ้น อาการสะท้านหนาวมักจะเกิดในใบแก่ก่อนใบอ่อน โดยกะเพราที่เก็บรักษาที่ 4 และ 8°ซ เกิดอาการสะท้านหนาวอย่างรุนแรงจนไม่เป็นที่ยอมรับเมื่อเก็บรักษาได้ 3 และ 6 วัน ตามลำดับ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในถุงพลาสติกไม่เจาะรูในสภาวะสมดุลที่ 13°ซ มีค่าประมาณร้อยละ 3.5 ในขณะที่ก๊าซออกซิเจนมีค่าประมาณร้อยละ 10 ส่วนค่า L* (Hunter scale) มีค่าลดลงอย่างมากในใบกะเพราที่เก็บรักษาที่ 4ºซ อย่างไรก็ตาม total chlorophylls ในใบซึ่งวัดในหน่วย SPAD กลับมีค่าเพิ่มขึ้นและแปรผกผันกับอุณหภูมิที่ต่ำลง การเก็บกะเพราในถุงปิดสนิทไม่เจาะรูที่อุณหภูมิ 13°ซ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับเป็นเวลา 9 วัน