ความสัมพันธ์ของความฉ่ำกับระยะการแก่ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวและคุณภาพของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย
อดิศักดิ์ จูมวงษ์ และจินดา ศรศรีวิชัย
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 223. (276 หน้า)
2548
บทคัดย่อ
ความสัมพันธ์ของความฉ่ำกับระยะการแก่ในฤดูกาลเก็บเกี่ยวและคุณภาพของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย
การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความฉ่ำกับระยะการแก่ของผลสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย (Ananas comosus cv. Smooth Cayenne) เก็บเกี่ยวที่อายุ 110, 120, 130, 140, 150 และ 160วันหลังดอกบานบริบูรณ์ ในฤดูร้อน (เมษายน-พฤษภาคม) ฤดูฝน (มิถุนายน-กรกฎาคม) และฤดูหนาว (พฤศจิกายน-ธันวาคม) ปี พ.ศ. 2546 ทำการประเมินคุณภาพของสีเปลือก จำนวนของผลที่มีลักษณะเนื้อฉ่ำและเนื้อปกติ การวัดปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำ (Total soluble solids : TSS) และปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ (Titratable Acidity : TA) ซึ่งเป็นดัชนีคุณภาพของผลสับปะรด พบว่า สีเปลือกของสับปะรดจะมีการเปลี่ยนแปลงจากสีเขียวเป็นสีเหลืองตามระยะการแก่ที่เพิ่มขึ้น แต่ในฤดูร้อนและฝนจะมีการพัฒนาของสีเปลือกได้ช้ากว่าในฤดูหนาวที่ระยะการแก่เดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสีเปลือกไม่มีความสัมพันธ์กับความฉ่ำของผล ผลสับปะรดจะเริ่มพัฒนาเป็นเนื้อฉ่ำได้ตั้งแต่ระยะ 120 วันหลังดอกบานซึ่งเป็นระยะการเก็บเกี่ยว จนถึงระยะ 160 วัน ของการเก็บเกี่ยวในทุกฤดูปริมาณของแข็งที่ละลายในน้ำของผลที่มีลักษณะเนื้อฉ่ำมีค่าสูงกว่าผลที่มีลักษณะเนื้อปกติเฉพาะระยะ 120 วันหลังดอกบานเท่านั้น ในระยะอื่นๆ มีค่าไม่แตกต่างกันทางสถิติ ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ของผลที่มีลักษณะเนื้อฉ่ำมีค่าสูงกว่าผลที่มีลักษณะเนื้อปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทุกระยะการแก่