บทคัดย่องานวิจัย

สถานการณ์การตกค้างของซัลเฟอร์ไดออกไซด์บนผลลำไยสดที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน

ธีรนุช เจริญกิจ จักรพงษ์ พิมพ์พิมล และสุชาดา ทองศรี

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 228 (276 หน้า.)

2548

บทคัดย่อ

สถานการณ์การตกค้างของซัลเฟอร์ไดออกไซด์บนผลลำไยสดที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน   การสำรวจปริมาณสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ตกค้างในผลลำไยสดของโรงรมลำไยในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนในปี 2547 โดยการสุ่มตัวอย่างจากโรงรมลำไยจำนวน 14 โรงแยกเป็นโรงรมในฤดูจำนวน 10 โรงและโรงรมนอกฤดูจำนวน 4 โรง ผลจากการสำรวจพบว่า ทุกโรงรมที่ทำการสุ่มตัวอย่างมีปริมาณ SO2 ตกค้างในเปลือกเฉลี่ยประมาณ 1,500-3,000 ppm และในเนื้อประมาณ 100-400 ppm ถ้าเปรียบเทียบปริมาณสาร SO2 ตกค้างจากการรมที่ถูกวิธีของสถาบันอาหาร (ในเปลือก 1,700 ppm และในเนื้อไม่เกิน 10 ppm; อนวัช, 2540) จะพบว่าโรงรมลำไยในฤดูมีสาร SO2 ตกค้างในเปลือกเกินมาตรฐานดังกล่าว จำนวน 8 โรงงาน (80 เปอร์เซ็นต์) ส่วนโรงรมนอกฤดูมีปริมาณสาร SO2 ตกค้างในเปลือกเกินมาตรฐานทุกโรง (100 เปอร์เซ็นต์) สำหรับสารตกค้างในเนื้อลำไยพบว่าทุกโรงที่รมลำไยทั้งในและนอกฤดู มีปริมาณสาร SO2 ตกค้างเกินกว่าที่แนะนำเมื่อเปรียบเทียบปริมาณสาร SO2 ตกค้างในแต่ละจุดที่ทำการเก็บตัวอย่างในห้องรม (10 จุด) ไม่พบความแตกต่างทางสถิติของตำแหน่งที่เก็บตัวอย่างต่อปริมาณสาร SO2 ที่ตกค้าง นอกจากนี้ยังพบว่าลำไยนอกฤดูมีปริมาณสาร SO2 ตกค้างของลำไยที่ผลิตนอกฤดูโดยเฉลี่ยจะสูงกว่าลำไยที่ผลิตในฤดู โดยลำไยนอกฤดูมีปริมาณสาร SO2 ตกค้างในเปลือกเฉลี่ย 2,764.96 ppm เทียบกับในฤดูที่มีตกค้าง 2,039.93 ppm ในขณะที่ในเนื้อพบว่าลำไยนอกฤดูมีปริมาณสาร SO2 ตกค้างเฉลี่ย 275.79 ppm ซึ่งสูงกว่าลำไยในฤดู (227.84 ppm) ปริมาณสาร SO2 ที่ตกค้างทั้งในเปลือกและในเนื้อดังกล่าวถือว่ามีปริมาณสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับการตกค้างจากโรงรมมาตรฐานของสถาบันอาหาร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีเพื่อลดปริมาณสารตกค้างดังกล่าวต่อไป