บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเคลือบผิวด้วยไคโตซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72

พิมพ์ใจ สีหะนาม และดนัย บุณยเกียรติ

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 232 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

ผลของการเคลือบผิวด้วยไคโตซานต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72 จากการศึกษาการเคลือบผิวผผลสตรอเบอรี่ด้วยไคโตซานความเข้มข้นต่างๆ แล้วนำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องนาน 2 วัน พบว่า ผลสตรอเบอรี่ที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 1.5 และ 2.0 เปอร์เซ็นต์ มีการเข้าทำลายของเชื้อราต่ำที่สุด คือ 6.67 และ 3.33 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับคะแนนลักษณะปรากฏของผลสตรอเบอรี่ที่ไม่เคลือบผิว ที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 1.0, 1.5 และ 2.0 เปอร์เซ็นต์ มีค่าไม่แตกต่างกัน การเคลือบผิวมีผลต่อการสูญเสียน้ำหนัก การเปลี่ยนแปลงสีเนื้อ ความแน่นเนื้อ ปริมาณแอนโธไซยานิน ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีผิว ปริมาณวิตามินซี และอัตราการหายใจ เมื่อศึกษาผลของอุณหภูมิที่เก็บรักษาร่วมกับการเคลือบผิวต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวของผลสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 72 โดยนำผลสตรอเบอรี่ที่เคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่เคลือบผิว และจุ่มน้ำกลั่น ไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0, 5 และ 10 องศาเซลเซียส นาน 4 วัน พบว่า การเก็บรักษาผลสตรอเบอรี่ไว้ที่อุณหภูมิ 0 และ 5 องศาเซลเซียส มีลักษณะปรากฏดีกว่าผลสตรอเบอรี่ที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ซึ่งมีคะแนนเท่ากับ 4.87, 4.80 และ 3.44 คะแนน ตามลำดับ การเก็บรักษาผลสตรอเบอรี่ไว้ที่อุณหภูมิ 0 และ 5 องศาเซลเซียส ไม่มีการเข้าทำลายของเชื้อรา ผลสตรอเบอรี่ที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียน้ำหนักเท่ากับ 1.24 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมากกว่าผลสตรอเบอรี่ที่เก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส จากผลการทดลองพบว่า อุณหภูมิในการเก็บรักษามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีผิว สีเนื้อ ปริมาณวิตามินซี ปริมาณแอนโธไซยานิน ปริมาณกรดที่ไตเตรทได้ และอัตราการหายใจ แต่ไม่มีผลต่อความแน่นเนื้อ และปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ สำหรับการเคลือบผิวด้วยไคโตซานความเข้มข้น 1.5 เปอร์เซ็นต์ พบว่า มีคะแนนลักษณะปรากฏดีที่สุด ซึ่งมีคะแนนเท่ากับ 4.78 คะแนน และไม่มีการเข้าทำลายของเชื้อรา นอกจากนี้ผลการทดลองพบว่า การเคลือบผิวมีผลต่อการสูญเสียน้ำหนัก ความแน่นเนื้อ ปริมาณแอนโธไซยานิน ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ และอัตราการหายใจ แต่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสีผิว สีเนื้อ ปริมาณวิตามินซี และปริมาณกรดที่ไตเตรทได้