บทคัดย่องานวิจัย

การประเมินความต้านทานโรคผลเน่าที่มีสาเหตุจากเชื้อ Colletotrichum gloeosporioides และ Pestalotiopsis psidii ในพันธุกรรมของฝรั่ง

นิลุบล สุขภาพ อุณารุจ บุญประกอบ กฤษณา กฤษณพุกต์ และอุดม ฟ้ารุ่งสาง

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 255 (276 หน้า)

2548

บทคัดย่อ

การประเมินความต้านทานโรคผลเน่าที่มีสาเหตุจากเชื้อ Colletotrichum gloeosporioides และ Pestalotiopsis psidii ในพันธุกรรมของฝรั่ง การปลูกฝรั่งเพื่อการค้าในประเทศไทยยังขาดพันธุ์ที่มีคุณสมบัติต้านทานต่อโรคผลเน่าที่มีสาเหตุจากเชื้อ Colletotrichum gloeosporioides และ Pestalotiopsis psidii การประเมินเชื้อพันธุกรรมฝรั่งเพื่อหาพันธุ์ต้านทานต่อโรคผลเน่าจึงเป็นงานขั้นต้นของการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ที่ความต้านทานต่อโรคผลเน่า จึงได้ประเมินความต้านทานโรคผลเน่าของฝรั่ง 40 พันธุ์ ได้แก่ฝรั่งรับประทานสด 17 พันธุ์ ฝรั่งคั้นน้ำ 15 พันธุ์ และฝรั่งพันธุ์พื้นเมือง 8 พันธุ์ ทำการทดสอบจำนวน 3 ครั้ง ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม พ.. 2547 เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม พ.. 2547 และเดือนพฤศจิกายน พ.. 2547 ถึงมกราคม พ.. 2548 โดยใช้ตัวอย่างเชื้อที่เก็บมาจาก 3 สถานที่ คือ 1) แปลงรวบรวมและทดสอบพันธุ์ ภาควิชาพืชสวน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม 2) แปลงเกษตรกรที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม และ 3) แปลงเกษตรกรที่ อ.บ้านแพ้ว จ.นครปฐม ประเมินความต้านทานหรือความเสียหายที่เกิด หลังปลูกเชื้อบนผลฝรั่ง โดยวัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางและความลึกของแผล พบว่า เมื่อทำการปลูกเชื้อ Colletotrichum gloeosporioides ฝรั่งรหัส GF1 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผลเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ 1.91 เซนติเมตร ซึ่งแสดงว่าผลฝรั่งมีความต้านทานอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่ฝรั่งพันธุ์ ทอนเทผลยาวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผลเฉลี่ยมากที่สุด คือ 3.83 เซนติเมตร ซึ่งแสดงว่าผลฝรั่งไม่ต้านทานต่อโรคผลเน่า และฝรั่งพันธุ์ขี้นกเมืองกาญน์มีความลึกของแผลเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ 1.68 เซนติเมตร ในขณะที่ฝรั่งพันธุ์ ไต้หวันมีความลึกแผลเฉลี่ยมากที่สุด คือ 2.97 เซนติเมตร เมื่อทำการปลูกเชื้อ Pestalotiopsis psidii พบว่า ฝรั่งรหัส GF1 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผลเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ 1.6 เซนติเมตร ซึ่งแสดงว่าผลฝรั่งมีความต้านทานอยู่ในระดับปานกลาง ในขณะที่ฝรั่งพันธุ์ ฟิลิปปินส์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของแผลเฉลี่ยมากที่สุด คือ 4.07 เซนติเมตร ซึ่งแสดงว่าผลฝรั่งไม่ต้านทานต่อโรคผลเน่า และฝรั่งพันธุ์ขี้นกเนื้อขาวมีความลึกของแผลเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ 1.71 เซนติเมตร ในขณะที่ฝรั่งพันธุ์ เย็นสองมีความลึกแผลเฉลี่ยมากที่สุด คือ 3.2 เซนติเมตร