บทคัดย่องานวิจัย

การควบคุมโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงหลังเก็บเกี่ยวด้วยยีสต์จากผิวใบในสภาพธรรมชาติ

ปริญญา จันทรศรี วิชชา สอาดสุด และอุราภรณ์ สอาดสุด

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 255. (276 หน้า).

2548

บทคัดย่อ

การควบคุมโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงหลังเก็บเกี่ยวด้วยยีสต์จากผิวใบในสภาพธรรมชาติ เชื้อยีสต์จำนวน 2 สายพันธุ์ที่แยกจากผิวใบมะม่วงที่เก็บมาจากสวนที่ปล่อยตามสภาพธรรมชาติซึ่งไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้ถูกนำมาทดสอบประสิทธิภาพในการเป็นเชื้อปฏิปักษ์ต่อเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุของโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงหลังเก็บเกี่ยว โดยพบว่ายีสต์ทั้งสองสายพันธุ์ คือ Candida spp. สายพันธุ์ NS5 และ NS9 สามารถลดเปอร์เซ็นต์การเกิดโรคแอนแทรคโนสในผลมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และโชคอนันต์ได้กว่า 50% เมื่อเทียบกับชุดควบคุม และพบว่าหากมีการใช้ยีสต์ร่วมกับไคโตซานจะทำให้ประสิทธิภาพในการควบคุมโรคนี้เพิ่มขึ้น ยีสต์ทั้งสองสายพันธุ์สามารถเจริญและเพิ่มปริมาณบนบาดแผลบนผลที่ทำขึ้นเพื่อการปลูกเชื้อได้นานถึง 8 วันที่อุณหภูมิ 25°C และกลไกการเป็นเชื้อปฏิปักษ์ของยีสต์ทั้งสองสายพันธุ์นี้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันเพื่อเข้าครอบครองพื้นที่บริเวณบาดแผลบนผลมะม่วงกับเชื้อราก่อโรค