ผลของค่าความเป็นกรด-ด่างของสารสกัดหยาบจากข่าที่มีต่อประสิทธิภาพในการควบคุมโรคผลเน่าในมะม่วง
พัชราพร ไชยชนะ พิทยา สรวมศิริ ญานี พงษ์ไพบูลย์ อนุวัฒน์ จรัสรัตนไพบูลย์ และแววจันทร์ พงค์จันตา
การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 262 (276 หน้า)
2548
บทคัดย่อ
ผลของค่าความเป็นกรด-ด่างของสารสกัดหยาบจากข่าที่มีต่อประสิทธิภาพในการควบคุมโรคผลเน่าในมะม่วง
การใช้สารสกัดธรรมชาติควบคุมโรคมักได้ผลไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ จากการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ค่าความเป็นกรด-ด่างของสารละลายที่ใช้กับต้นพืชก็เป็นปัจจัยสำคัญด้วย ซึ่งนักวิจัยและเกษตรกรมักมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญ การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์ทดสอบประสิทธิภาพการควบคุมโรคผลเน่าบนผลมะม่วงของสารละลายผลิตภัณฑ์สารสกัดหยาบของข่า ที่ระดับความเข้มข้น 500 ส่วนต่อล้าน โดยใช้ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ที่ 4.6 (pH ปกติของสารละลาย), ปรับ pH เป็น 6 และ 8 โดยใช้ benomyl ในอัตราแนะนำและน้ำอุ่น (อุณหภูมิ 45-50°C) เป็นตัวเปรียบเทียบ ทดสอบกับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและน้ำดอกไม้เบอร์ 4 ผลการทดลอง พบว่า มะม่วงทั้งสองพันธุ์ของทุกรรมวิธีเริ่มแสดงอาการของโรคเมื่อวันที่ 5 ของการเก็บรักษา และจะแสดงอาการรุนแรงมากขึ้นตามระยะเวลาในการเก็บรักษาที่นานขึ้น โดยในวันที่ 10 ของการเก็บรักษา กรรมวิธีควบคุมจะมีดรรชนีการเข้าทำลายของโรคมาถึง 43-50 เปอร์เซ็นต์ การแช่ผลมะม่วงในน้ำอุ่นจะช่วยลดดรรชนีการเข้าทำลายของโรคเหลือ 36.67 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ benomyl ก็ช่วยลดความรุนแรงของโรคเหลือ 33.33 เปอร์เซ็นต์ การแช่ผลมะม่วงในสารละลายผลิตภัณฑ์สารสกัดหยาบจากข่าที่ทุกระดับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH 4.6, 6 และ 8) สามารถควบคุมโรคได้ดีกว่ากรรมวิธีควบคุม, น้ำอุ่น และ benomyl สำหรับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองมีดรรชนีการเข้าทำลายของโรคน้อยมากเพียง 12.50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 มีดรรชนีการเข้าทำลายของโรค 26.67 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ระดับ pH 4.6 ผิวผลมะม่วงจะแสดงอาการผิดปกติ (คราบเปื้อนสีน้ำตาล) ขึ้นเล็กน้อย และโรคที่พบในการทดลองครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรคแอนแทรคโนส