บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาเปรียบเทียบการตลาดปาล์มน้ำมันของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตรและเกษตรกรที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตร

รังสรรค์ โนชัย และฐิติฎา โนชัย

การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 5. 26-29 เมษายน 2548 ณ โรงแรมเวลคัมจอมเทียนบีช พัทยา จังหวัด ชลบุรี. เลขหน้า 264

2548

บทคัดย่อ

การศึกษาเปรียบเทียบการตลาดปาล์มน้ำมันของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตรและเกษตรกรที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตร   การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อศึกษาการตลาดปาล์มน้ำมันในระดับท้องถิ่น โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันจำนวน 564 รายในจังหวัด ชุมพร สุราษฏร์ธานี และกระบี่ และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน ภายใต้กรอบการวิเคราะห์หน้าที่การตลาด ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตรส่วนใหญ่ร้อยละ 72.29 จะขายผลผลิตปาล์มน้ำมันให้กับสหกรณ์นิคม ในขณะที่เกษตรกรที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตรส่วนใหญ่ร้อยละ 56.22 ขายผลผลิตปาล์มน้ำมันให้กับพ่อค้าท้องถิ่น การขาดผลผลิตปาล์มน้ำมันของกลุ่มตัวอย่างมี 3 ลักษณะ คือ การขายทั้งทะลาย การขายผลร่วง และการขายคละ โดยเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตรส่วนใหญ่ร้อยละ 76.11 ขายผลผลิตปาล์มในลักษณะขายทั้งทะลาย ส่วนเกษตรกรที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตรส่วนใหญ่ร้อยละ 60.00 จะขายผลปาล์มน้ำมันในลักษณะขายคละซึ่งได้ราคาที่ต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามการขายในลักษณะผลร่วงของเกษตรกรที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตรได้ราคาสูงกว่าการขายของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มทางการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่การขายให้กับพ่อค้าท้องถิ่นทั้ง 3 ลักษณะจะได้ราคาที่ต่ำกว่าการขายให้กับสหกรณ์นิคมหรือโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม สำหรับการขนย้ายผลปาล์มไปขายของทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่ ใช้วิธีจ้างรถบรรทุก ระยะทางระหว่างสวนปาล์มกับโรงงานสกัดฯ โดยเฉลี่ย13.05 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายในการขนย้ายโดยเฉลี่ยเท่ากับ 142 บาทต่อวัน แนวทางการพัฒนาการตลาดปาล์มน้ำมันในระดับท้องถิ่นคือการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรมากขึ้นเพื่อสร้งอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกรในการขาย และยังสามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตปาล์มน้ำมันให้ได้มาตรฐานด้วย