วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของ Profenofos ในมะม่วงเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง (MRLs) ครั้งที่ 4, 5 และ 6
ลมัย ชูเกียรติวัฒนา, บังเอิญ สีมา และรัชนี สุวภาพ
บทคัดย่อผลการทดลองสิ้นสุดโครงการวิจัยและพัฒนาด้านพืชและเทคโนโลยีการเกษตรปีงบประมาณ 2549. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2549. 150 หน้า.
2549
บทคัดย่อ
การศึกษาการสลายตัวของโพรฟีโนฟอสในมะม่วงครั้งที่ 5ได้ทำแปลงทดลองที่อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ระหว่างเดือน พฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนมกราคม 2549และครั้งที่ 6 ได้ที่อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทองระหว่างเดือนธันวาคม 2548 ถึงเดือนเมษายน 2549ตามลำดับ โดยวางแผนการทดลองแบบ Supervised Trial มี 3 ซ้ำ และมี 2การทดลองโดยพ่นโพรฟีโนฟอสในอัตราแนะนำ (ใช้โพรฟีโนฟอส 50% EC อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20ลิตร) และไม่พ่น โพรฟีโนฟอส เริ่มพ่นโพรฟีโนฟอส ครั้งแรกเมื่อมะม่วงติดผลได้ 6สัปดาห์ พ่นสารทุกๆ 7วัน รวม 4ครั้ง ภายหลังพ่นสารครั้งสุดท้ายเก็บผลมะม่วงที่ระยะเวลา 0, 1, 5, 7, 14, และ 21วัน นำมาวิเคราะห์สารพิษตกค้างด้วยเครื่อง gas chromatograph พบว่าแปลงทดลองครั้งที่ 5เมื่อใช้สารในอัตราแนะนำมะม่วงมีโพรฟีโนฟอสตกค้าง 1.24, 0.89, 0.66, 0.42, 0.07 และ 0.08 มก./กก. ที่ระยะเวลา 0, 1, 5, 7, 14 และ 21วันภายหลังการพ่นครั้งสุดท้ายตามลำดับ ส่วนแปลงการทดลองที่ 6 พบว่า มีโพรฟีโนฟอสตกค้าง 2.40, 1.58, 0.71, 0.34, 0.08 และ 0.07 มก./กก. ที่ระยะเวลา 0, 2, 4, 7, 14 และ 21วันภายหลังการพ่นครั้งสุดท้ายตามลำดับ เนื่องจากมะม่วงเป็นไม้ผลเขตร้อน FAO/WHO จึงไม่ได้กำหนดค่า Codex MRLs ของมะม่วง ดังนั้นประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตรซึ่งรวมถึงการผลิตมะม่วงเพื่อบริโภคทั้งในประเทศและส่งออก จึงควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาค่า MRLs ของวัตถุมีพิษที่ใช้กับมะม่วง เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดค่า MRLsของประเทศและร่วมพิจารณากำหนดค่า MRLsในระดับ Asean และ Codex ต่อไป เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าประเทศมีระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีการใช้วัตถุมีพิษการเกษตรอย่างถูกต้องและปลอดภัย คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก