บทคัดย่องานวิจัย

วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของอีไทออนในส้มโอเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง (MRLs) ครั้งที่ 1 และ 2

รัชนี สุวภาพ, สมสมัย ปาลกูล, ประชาธิปัตย์ พงษ์ภิญโญ และวิษณุ แจ้งใบ

บทคัดย่อผลการทดลองสิ้นสุดโครงการวิจัยและพัฒนาด้านพืชและเทคโนโลยีการเกษตรปีงบประมาณ 2549. กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. 2549. 150 หน้า.

2549

บทคัดย่อ

วิจัยปริมาณสารพิษตกค้างของอีไทออนในส้มโอเพื่อกำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง (MRLs) ครั้งที่ 1 และ 2

 

ศึกษาการสลายตัวของอีไทออนในส้มโอครั้งที่ 1ตามวิธีการศึกษาการใช้วัตถุมีพิษอย่างถูกต้องและปลอดภัย (Good Agricultural Pratice)ทำการทดลองในแปลงเกษตรกร ณ อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม ครั้งที่ 1ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนมิถุนายน 2549 และอำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง ครั้งที่ 2เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน 2549 โดยแบ่งแปลงทดลองออกเป็น 2แปลง คือ แปลงควบคุม (ไม่ฉีดพ่นวัตถุมีพิษ) และแปลงอัตราตามคำแนะนำ (20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20ลิตร) ฉีดพ่นอีไทออนในแปลงส้มโอ สัปดาห์ละ 1ครั้ง จำนวน 3ครั้ง ภายหลังฉีดพ่นครั้งสุดท้าย ทิ้งวัตถุมีพิษแห้งสนิท จึงเก็บเกี่ยวส้มโอที่ระยะเวลา 0, 1, 3, 7, 14, 21และ 28วัน นำมาสกัดสารพิษตกค้างโดยวิธีทางเคมี และวิเคราะห์ด้วยเครื่อง gas chromatograph ปรากฏผลการวิเคราะห์ดังนี้ส้มโอแปลงฉีดพ่นอีไทออน ครั้งที่ 1ในอัตราตามคำแนะนำ (20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20ลิตร) พบสารพิษตกค้างในส้มโอทั้งผล (เนื้อรวมเปลือก) ปริมาณ 0.64, 0.57, 0.54, 0.49, 0.46, 0.45และ 0.39 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ และส้มโอแปลงฉีดพ่นอีไทออน ครั้งที่ 2 พบปริมาณ 1.18, 1.00, 0.84, 0.73, 0.61, 0.53 และ 0.43 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ สำหรับแปลงควบคุมตรวจไม่พบสารพิษตกค้าง FAO/WHO กำหนดค่าปริมาณสูงสุดของสารพิษตกค้าง(Codex MRLs)ของอีไทออน ในพืชตระกูลส้ม = 5มก./กก.ดังนั้นข้อมูลจากการทดลองนี้เมื่อเปรียบเทียบกับค่าความปลอดภัยแล้ว พบว่าส้มโอแปลงฉีดพ่นอัตราตามคำแนะนำ มีปริมาณสารพิษตกค้างต่ำกว่าค่าปลอดภัยที่กำหนดตั้งแต่วันแรกของการเก็บเกี่ยว ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการเก็บเกี่ยวและผู้บริโภคควรทิ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 3วัน และไม่มีปัญหาในการส่งเป็นสิค้าไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

จากการสำรวจเก็บตัวอย่างจากแหล่งจำหน่าย และแหล่งปลูกในจังหวัดต่างๆ เช่น ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม ปทุมธานี สุพรรณบุรี และอ่างทอง จำนวน 35ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในส้มโอทั้งผล จำนวน 15ผล ได้แก่สารพิษตกค้างของ cypermethrin, chlorpyrifos, profenofos, malathion,ethion, dimethoate และ omethoate อยู่ในระดับปลอดภัย และพบสารพิษตกค้างเกินค่าปลอดภัยจำนวน 3ตัวอย่าง คือ  cyfluthrin และ permethrin ในส้มโอจำนวน 1ตัวอย่าง และ  parathion-methyl2ตัวอย่าง สำหรับ parathion-methylจะถือว่าปริมาณสารตกค้างเกินค่าปลอดภัย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยประกาศห้ามใช้วัตถุมีพิษชนิดนี้แล้ว