บทคัดย่องานวิจัย

การวิจัยปัญหาแมลงวันผลไม้ในมังคุด

เกรียงไกร กำเนิดมา, ศรุต สุทธิอารมณ์, มนตรี จิรสุรัตน์ และอรุณี วงษ์กอบรัษฎ์

รายงานผลงานวิจัยเรื่องเต็ม ปี 2546. สำนักวิจัยและพัฒนาการอารักขาพืช. 2547. หน้า 274-293.

2547

บทคัดย่อ

การวิจัยปัญหาแมลงวันผลไม้ในมังคุด

การศึกษาปัญหาแมลงวันผลไม้ในมังคุดจากแหล่งปลูกมังคุด จังหวัดจันทบุรี ระยอง ตราด ชุมพร และนครศรีธรรมราช ระหว่างเดือนตุลาคม 2542 ถึงเดือนกันยายน 2546 ผลผลิตมังคุดจากจังหวัดจันทบุรี 17,003 ผล เป็นมังคุดดี 9,046 ผล คิดเป็น 53.20% ไม่ถูกแมลงวันผลไม้ทำลาย มีรอยแผล 7,957 ผล คิดเป็น 46.80% ถูกแมลงวันผลไม้ทำลาย 24ผล คิดเป็น 0.30% ผลผลิตจากระยอง 7,171 ผล เป็นมังคุดดี 4,148 ผล หรือ 57.64% ไม่ถูกแมลงวันผลไม้ทำลายเลย มีรอยแผล 3.023ผล หรือ 42.16% ถูกแมลงวันผลไม้ทำลาย 26 ผล หรือ 1.33% ผลผลิตจากจังหวัดตราด 11,486 ผล เป็นผลดี 4,115 หรือ 35.83% ไม่ถูกแมลงวันผลไม้ทำลายเลยมีรอยแผล 7,371 ผล หรือ 64.17% ถูกแมลงวันผลไม้รวม 461 ผล หรือ 6.25% ผลผลิตจากจังหวัดชุมพร 6,971 ผล เป็นผลดี 4,747 หรือ 68.10% ไม่ถูกทำลายเลย มีรอยแผล 2,224ผล หรือ 31.90% ถูกทำลาย 91 ผล หรือ 1.09% ส่วนผลผลิตจากนครศรีธรรมราช จำนวน 1,106 ผล เป็นผลดี 383 ผล หรือ 34.63% ไม่พบการทำลายของแมลงวันผลไม้ มีรอยแผล 723 ผล หรือ 65.37% ถูกแมลงวันผลไม้ทำลาย 3 ผล หรือ 0.41% แมลงวันผลไม้จากทุกผลเป็นชนิด Bactrocera dorsalis  และจากการศึกษาเพิ่มเติม เฉพาะผลผลิตที่จังหวัดจันทบุรี ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน จึงสรุปได้ว่า มังคุดสุกที่ไม่มีรอยแผลจะไม่ถูกแมลงวันผลไม้ทำลาย สำหรับการศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้แมลงวันผลไม้เข้าทำลายมังคุดได้ พบแมลงวันผลไม้ชนิด B.  dorsalis  สามารถเจริญเติบโตในเนื้อมังคุดดิบและเนื้อมังคุดสุกทุกระยะ ถ้าผลเหล่านั้นมีรอยเจาะทะลุถึงเนื้อ ผลมังคุดที่สุกระยะที่ 6 แม้มีแผลลึกเพียง 1มิลลิเมตรแมลงวันผลไม้ก็สามารถวางไข่ได้ แต่หนอนที่ฟักออกจากไข่จะสามารถเข้าไปเจริญเติบโตในผลมังคุดสุกระยะที่ 4และระยะที่ 6 ได้ต่อเมื่อเปลือกมีรอยแผลลึก 5 และ 4 มิลลิเมตรตามลำดับ จากการศึกษาจึงสรุปได้ว่าแมลงวันผลไม้สามารถเจริญเติบโตได้ในมังคุดดิบและมังคุดสุกทุกระยะ ดังนั้น ปัจจัยที่แท้จริงซึ่งมีผลต่อการเข้าทำลายผลมังคุดของแมลงวันผลไม้ คือความลึกของรอยแผล ต้องทะลุถึงเนื้อหรือเกือบถึงเนื้อในมังคุดสุกตั้งแต่ระยะที่ 4 เป็นต้นไป ขณะที่การศึกษาความสัมพันธ์ของแมลงวันผลไม้จากกับดักและผลมังคุดที่ถูกทำลาย พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กัน