บทคัดย่องานวิจัย

โครงการการจัดการความเสี่ยงแมลงวันผลไม้เพื่อการส่งออก มังคุด ลำไย และหมากไปไต้หวัน

รัชฎา อินทรกำแหง, อุดร อุณหวุฒิ, จำลอง ลภาสาธุกุล, สลักจิต พานคำ, มลนิภา ศรีมาตรภิรมย์, ชัยณรัตน์ สนศิริ และชุติมา อ้อมกิ่ง

โครงการวิจัยระดับดีที่ได้รับทุนสนับสนุนจากเงินรายได้ จากการดำเนินงานวิจัยด้านการเกษตรประจำปี 2548. 2548. 57 หน้า.

2548

บทคัดย่อ

โครงการการจัดการความเสี่ยงแมลงวันผลไม้เพื่อการส่งออก มังคุด ลำไย และหมากไปไต้หวัน

 

ได้ทำการทดลองที่กลุ่มวิจัยการกักกันพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ระหว่างเดือน ตุลาคม 2547 ถึงกันยายน 2548 เพื่อศึกษาสถานภาพการไม่ได้เป็นพืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ชนิด Bactrocera carambolae กับมังคุด B. correcta กับลำไย B. correctaและ B. papayae กับหมาก พบว่าเมื่อเลี้ยงในอาหารเทียมสูตรข้าวโพดในสภาพห้องปฏิบัติการ B. papayaeและ B. carambolae มีวงจรชีวิตดังนี้ ระยะไข่ 30-40 ชั่วโมง ระยะหนอน 6-12 วัน อัตราการฟักไข่ 78-85% และปริมาณการออกเป็นตัวเต็มวัยเฉลี่ย 90% ส่วนB. correctaมีระยะไข่ 38-62 ชั่วโมง ระยะหนอน 6-12วัน อัตราการฟักไข่ 70-82%และปริมาณการออกเป็นตัวเต็มวัยเฉลี่ย 93% ในสภาพห้องปฏิบัติการ B. correctaและ B. papayae สามารถเข้าทำลายและเจริญเติบโตในผลหมากอ่อนระยะส่งออกได้ แต่ไม่พบการทำลายในสภาพธรรมชาติ วิธีการจัดการความเสี่ยงของแมลงวันผลไม้ที่ติดไปกับหมากส่งออกไปไต้หวัน คือการรมหมากด้วยเมทธิลโบรไมด์ (methyl bromide) อัตราส่วน 32 กรัม/ลูกบาศก์เมตร นาน 2ชั่วโมง และได้จัดทำรายงานผลการทดลองเสนอให้หน่วยงานกักกันพืชไต้หวันเพื่อพิจารณาอนุญาตนำเข้าหมากจากประเทศไทย ส่วน B. carambolaeไม่สามารถเข้าทำลายและเจริญเติบโตในผลมังคุดที่เปลือกไม่มีรอยแตก หรือมีรูทำลายลึกไม่ถึงเนื้อได้ และไม่พบการทำลายธรรมชาติ มังคุดผลปกติที่ไม่มีรอยแผลไม่ใช่พืชอาศัยของแมลงวันผลไม้ และสามารถจัดทำราบงานเสนอไต้หวันเพื่อเป็นวิธีการจัดการความเสี่ยงแมลงวันผลไม้ในการส่งออกมังคุดได้ ในสภาพห้องปฏิบัติการแมลงวันผลไม้B. correctaสามารถเข้าทำลายและเจริญเติบโตในผลลำไยปกติ  ที่ไม่มีรูเจาะหรือรอยแตกได้ พบการทำลายในสภาพสวนธรรมชาติจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาหาวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการความเสี่ยงของแมลงวันผลไม้ที่อาจติดไปกับลำไยส่งออกไปไต้หวัน เช่นการใช้ความเย็นหรือวิธีการอบไอน้ำ