อิทธิพลของวิธีการลดความชื้นและการเก็บรักษาต่อคุณภาพและอายุเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง
เบญจมาภรณ์ สุทธิ
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพืชศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2543. 62 หน้า.
2543
บทคัดย่อ
- การผลิตถั่วลิสงในช่วงฤดูฝน มักประสบปัญหาในการลดความชื้นเมล็ด เนื่องจากในช่วงเก็บเกี่ยวถั่วลิสงจะมีฝนตกชุก ความชื้นของอากาศค่อนข้างสูง การลดความชื้นเมล็ดต้องใช้เวลานานและสภาพเช่นนี้เหมาะต่อการเจริญและผลิตสารพิษอะฟลาทอกซินของเชื้อรา เป็นเหตุให้ถั่วลิสงมีคุณภาพต่ำและอายุเก็บรักษาสั้น งานทดลองนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการและอิทธิพลของวิธีลดความชื้นและสภาพการเก็บรักษาต่อคุณภาพและอายุเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสง โดยใช้ถั่วลิสงพันธุ์ไทนาน 9 ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 การทดลองคือ
- การทดลองที่ 1 เป็นการลดความชื้นเมล็ดถั่วลิสงที่แตกต่างกัน 3 วิธี คือ
- การใช้เครื่องลดความชื้นชนิดลมร้อนที่บรรจุถั่วลิสงหนา 60 และ 80 เซนติเมตร จากพื้นถังอบ
- การตากแดด
- การผึ่งในร่ม
ดำเนินการในเดือนตุลาคม 2540 ที่อาคารปฏิบัติการหมวดพืชไร่ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในระหว่างการลดความชื้นทุกๆ 6 ชั่วโมง สุ่มเก็บตัวอย่างเมล็ดถั่วลิสงในแต่ละวิธีการมาตรวจวัดความชื้น จนความชื้นเมล็ดอยู่ระหว่าง 6-7 เปอร์เซ็นต์ หลังจากการลดความชื้นนำเมล็ดมาตรวจสอบความงอก, น้ำหนักแห้งต้นกล้า, จำนวนต้นกล้าผิดปกติ, เมล็ดตาย, ค่าการนำไฟฟ้าและการปนเปื้อนเชื้อรา Aspergillus flavus, A. niger และเชื้อราชนิดอื่น
การทดลองที่ 2 ศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพเมล็ดพันธุ์หลังจากการลดความชื้นและเก็บรักษา ดำเนินการในระหว่างเดือนตุลาคม 2540 ถึง มิถุนายน 2541 โดยนำเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่ผ่านการลดความชื้นทั้ง 3 วิธี จากงานทดลองที่ 1 บรรจุกระสอบป่านเก็บไว้ในสภาพการเก็บรักษาที่ต่างกันเป็นเวลา 7 เดือน วางแผนการทดลองแบบ Split plot in CRD จำนวน 4 ซ้ำ มีสภาพการเก็บรักษาที่ต่างกัน 2 สภาพคือ ห้องที่ไม่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ และสภาพห้องควบคุมอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65 เปอร์เซ็นต์ เป็น Main plot และเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่ผ่านการลดความชื้นทั้ง 3 วิธีจากงานทดลองที่ 1 เป็น Sup plot สุ่มตรวจคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ลักษณะต่างๆ และใช้กรรมวิธีเช่นเดียวกับการทดลองที่ 1 ทุกๆ เดือน เป็นเวลานาน 7 เดือน
ผลการศึกษาพบว่า การใช้เครื่องลดความชื้นสามารถลดความชื้นเมล็ดถั่วลิสงจาก 25-27 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือประมาณ 6-7 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้เวลา 24 และ 36 ชั่วโมง เมื่อบรรจุเมล็ดในถังอบหนา 60 และ 80 เซนติเมตร โดยมีอัตราการลดลงของความชื้นเมล็ดเฉลี่ย 0.8 และ 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง ตามลำดับ ในขณะที่การตากแดดและผึ่งในร่มต้องใช้เวลาในการลดความชื้น 48 และ 78 ชั่วโมง และมีอัตราการลดลงของความชื้นของเมล็ดเฉลี่ย 0.4 และ 0.3 เปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมง ตามลำดับ จากงานทดลองนี้วิธีการลดความชื้นที่ต่างกันไม่ทำให้ความงอก น้ำหนักแห้งต้นกล้า จำนวนต้นกล้าผิดปกติ เมล็ดตาย และการปนเปื้อนของเชื้อราหลังการลดความชื้นทันทีแตกต่างกัน ยกเว้นค่าการนำไฟฟ้า ที่การผึ่งในร่มทำให้ค่าการนำไฟฟ้าสูงที่สุด (13.7 ไมโครโมส์/ซม./กรัม) และแตกต่างจากเมล็ดที่ตากแตดซึ่งมีค่าการนำไฟฟ้ารองลงมา และการใช้เครื่องลดความชื้นมีค่าการนำไฟฟ้าต่ำที่สุด (11.0 และ 10.6 ไมโครโมส์/ซม./กรัม ตามลำดับ) ผลของการทดลองที่ 2 พบว่า คุณภาพเมล็ดพันธุ์ลดลงเมื่ออายุเก็บรักษาเพิ่มขึ้น และการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงในสภาพห้องควบคุมสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 4 เดือน โดยเมล็ดยังมีความงอกอยู่ในระดับความงอกมาตรฐาน (72 เปอร์เซ็นต์) ในขณะที่เมล็ดที่เก็บในอุณหภูมิห้อง เมล็ดมีความงอกต่ำกว่าระดับความงอกมาตรฐาน (67 เปอร์เซ็นต์) อีกทั้งมีความชื้นเมล็ด จำนวนต้นกล้าผิดปกติ จำนวนเมล็ดตาย ค่าการนำไฟฟ้าและการปนเปื้อนเชื้อรามากกว่าการเก็บรักษาในสภาพห้องควบคุม ส่วนการใช้เครื่องลดความชื้น การตากแดดและการผึ่งในร่ม ทำให้เมล็ดมีความงอก 73, 70 และ 66 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ เมื่อเก็บรักษาไว้นาน 4 เดือน นอกจากนี้การใช้เครื่องลดความชื้นทำให้มีน้ำหนักแห้งต้นกล้ามากที่สุด แต่มีค่าการนำไฟฟ้า จำนวนต้นกล้าผิดปกติ จำนวนเมล็ดตาย และจำนวนเมล็ดปนเปื้อนเชื้อราน้อยกว่าเมล็ดที่ลดความชื้นแบบอื่น