การประเมินผลการใช้วิธี S1 recurrent selection เพื่อปรับปรุงขนาดเมล็ดของงาประชากร มข.#2
จิรวัฒน์ สนิทชน
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (พืชศาสตร์) คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 51 หน้า.
1992
บทคัดย่อ
ได้มีการนำเอาวิธีปรับปรุงประชากรแบบ S1 recurrent selection ซึ่งใช้ในพืชผสมข้าม มาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงขนาดเมล็ดของงาประชากร มข.#2 ซึ่งเป็นพืชผสมตัวเอง โดยได้เริ่มสร้างประชากรพื้นฐานจากงา 60 พันธุ์ ด้วยวิธีผสมข้ามแบบสุ่มและใช้ความเข้มข้นในการคัดเลือก 30 เปอร์เซ็นต์ ทำการปรับปรุงพันธุ์จนสิ้นสุดรอบการคัดเลือกที่ 2 จึงได้ประเมินความก้าวหน้า การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าของการคัดเลือกพันธุ์ โดยวิธี S1 recurrent selection ที่มีต่อขนาดเมล็ด และเพื่อศึกษาสหสัมพันธ์ของลักษณะต่างๆ ผลของการประเมินความก้าวหน้าจาก 3 สภาพแวดล้อมพบว่า ขนาดของเมล็ดมีการตอบสนองทางบวกในเชิงเส้นตรง โดยมีค่าน้ำหนัก 1,000 เมล็ดเพิ่มขึ้น 0.145 กรัมต่อรอบการคัดเลือก ผลการศึกษาสหสัมพันธ์ของลักษณะต่างๆ พบว่าขนาดของเมล็ดมีสหสัมพันธ์ต่ำกับผลผลิตเมล็ดต่อตัน (r = 0.166**) แต่มีสหสัมพันธ์ระดับปานกลางกับอายุเก็บเกี่ยว (r = 0.493**) นอกจากนี้ยังพบสหสัมพันธ์ในระดับสูง ระหว่างผลผลิตเมล็ดกับจำนวนฝักต่อต้น (r = 0.719**) ดังนั้นการใช้วิธี S1 recurrent selection เพื่อปรับปรุงขนาดเมล็ดของประชากรงาในครั้งนี้ จึงเป็นวิธีที่ได้ผล เนื่องจากสามารถเพิ่มค่าน้ำหนัก 1,000 เมล็ด ในทุกรอบของการคัดเลือก โดยไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงผลผลิต แต่มีแนวโน้มจะทำให้มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวขึ้น