บทคัดย่องานวิจัย

การทดสอบและประเมินผลเครื่องลอกปอแบบลูกตีเดี่ยว สำหรับปอแก้วพันธุ์พื้นเมือง และปอแก้วพันธุ์โนนสูง 2

สุภาษิต เสงี่ยมพงศ์

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2534. 189 หน้า.

2534

บทคัดย่อ

การทดสอบและประเมินผลเครื่องลอกปอแบบลูกตีเดี่ยว สำหรับปอแก้วพันธุ์พื้นเมือง และปอแก้วพันธุ์โนนสูง 2
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบและประเมินผลเครื่องลอกปอแบบลูกตีเดี่ยว เพื่อลอกปอแก้วพันธุ์พื้นเมือง และปอแก้วพันธุ์โนนสูง 2 โดยมีปัจจัยในการศึกษา 5 ปัจจัย คือ
1) พันธุ์ปอ จำนวน 2 พันธุ์ (ปอแก้วพันธุ์พื้นเมือง และปอแก้วพันธุ์โนนสูง 2)
2) อายุปอ จำนวน 3 อายุ (อายุปอในช่วง น้อยกว่า 10 วัน ถึงมากกว่า 10 วัน ของอายุเก็บเกี่ยวที่แนะนำ)
3) ความชื้นต้นปอ จำนวน 3 ระดับ (อยู่ในช่วงตั้งแต่วันแรกหลังการเก็บเกี่ยว ถึง 4 วันหลังการเก็บเกี่ยว)
4) ระยะห่างระหว่างปลายฟันลูกตีกับปลายฟันฝาครอบ จำนวน 4 ระดับ (อยู่ในช่วงเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางโคนปอเฉลี่ย ถึงมากกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางโคนปอเฉลี่ย)
5) ความเร็วเชิงเส้นปลายฟันลูกตี จำนวน 3 ระดับ (อยู่ในช่วง 8.25-11.91 เมตร/ วินาที หรือ 450-650 รอบ/นาที)

สำหรับค่าชี้สมรรถนะในการทดสอบเครื่องลอกปอแบบนี้ได้แก่ เปอร์เซ็นต์แกนปอที่ถูกลอกออก เปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งที่ลดลงหลังผ่านเครื่องลอกปอ ระยะเวลาที่ใช้ในการแช่ฟอก และความเหนียวของเส้นใยปอ
จากผลการศึกษาสามารถสรุปข้อเสนอแนะสำหรับการใช้เครื่องลอกปอแบบลูกตีเดี่ยวได้ดังต่อไปนี้
1) ปอที่จะนำมาลอกด้วยเครื่องลอกปอนี้ควรเป็นปอแกนอ่อน ซึ่งจะเป็นปอแก้วพันธุ์พื้นเมืองหรือปอแก้วพันธุ์โนนสูง 2 ก็ได้
2) การลอกปอเมื่อปอมีอายุอยู่ในช่วงก่อนอายุเก็บเกี่ยวที่แนะนำ 10 วัน ถึงหลังอายุเก็บเกี่ยวที่แนะนำ 10 วัน ให้ผลการลอกปอไม่แตกต่างกัน
3) การลอกปอควรกระทำภายในวันที่เก็บเกี่ยว
4) ระยะห่างระหว่างปลายฟันลูกตีกับปลายฟันฝาครอบ ที่แนะนำสำหรับปอทั้ง 2 พันธุ์ ควรมีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางโคนปอเฉลี่ย 4 มิลลิเมตร
5) ความเร็วเชิงเส้นปลายฟันลูกตี ที่แนะนำสำหรับปอทั้ง 2 พันธุ์ ควรอยู่ในช่วง 10.08-11.91 เมตร/วินาที (550-650 รอบ/นาที)