บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาแนวทางการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวสำหรับเกี่ยวนวดถั่วเหลือง

อนุชิต ฉ่ำสิงห์

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2539. 160 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

การศึกษาแนวทางการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวสำหรับเกี่ยวนวดถั่วเหลือง
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความต้องการของเกษตรกรในการใช้เครื่องจักรกลเกษตรในการเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง และแนวทางในการปรับปรุงเครื่องเกี่ยวนวดข้าวสำหรับเกี่ยวนวดถั่วเหลือง ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ศึกษาวิธีการปฏิบัติ ปัญหาและความต้องการเครื่องเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง โดยศึกษาจากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในสภาพไร่ ในเขตจังหวัดขอนแก่น เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุตรดิตถ์ จำนวน 226 ราย และการทดสอบเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิคในการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวสำหรับเกี่ยวนวดถั่วเหลือง โดยทำการทดสอบเกี่ยวนวดถั่วเหลืองพันธุ์ สจ. 5 ที่บ้านผาน้ำเที่ยง ต. บริบูรณ์ อ. สีชมพู จังหวัดขอนแก่น ผลการศึกษามีดังนี้

1. เกษตรกรมีแรงงานที่ปฏิบัติงานจริงในการเพาะปลูกถั่วเหลืองเฉลี่ยเพียงครอบครัวละ 2.9-3.5 คน ซึ่งเป็นปริมาณค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่เพาะปลูกของแต่ละครอบครัวเฉลี่ย 23 ไร่ ในการปลูกเกษตรกรนิยมเตรียมดินโดยไถดะ 1 ครั้ง และไถพรวนอีก 1 ครั้ง แล้วปลูกโดยใช้เครื่องปลูกแบบโรยเป็นแถวเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพันธุ์ถั่วเหลืองที่ใช้ในการปลูกแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด มีทั้งพันธุ์ที่ทางราชการส่งเสริมและพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งได้มาจากการซื้อเป็นส่วนใหญ่และพบว่าใช้ในอัตราที่สูง (10-37 กิโลกรัม/ไร่) สำหรับการเก็บเกี่ยวพบว่าเก็บเกี่ยวโดยใช้แรงงานคนเกี่ยวทั้งหมด โดยในภาคเหนือเริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อถั่วเหลืองอยู่ในสภาพที่สดกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะรีบเกี่ยวให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 วัน แต่แรงงานในครอบครัวไม่เพียงพอจึงต้องจ้างแรงงานเพิ่มในแต่ละวันเฉลี่ย 13-22 คน เป็นเวลา 2-3 วัน ในอัตราค่าจ้างที่สูงและหาแรงงานได้ยาก ทั้งต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าอาหารและค่ารถยนต์ขนส่งแรงงานอีกด้วย ภายหลังการเกี่ยวเกษตรกรจะตากถั่วเหลืองให้แห้งพอเหมาะแก่การนวด แล้วทำการจ้างนวดด้วยเครื่องนวดในอัตรา 0.40 บาท/กิโลกรัม และมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับแรงงานที่ช่วยในการนวดและค่าอาหาร นอกจากนี้พบว่า 3.2 เปอร์เซ็นต์ ของเกษตรกรจังหวัดสุโขทัย มีการนำเครื่องเกี่ยวนวดข้าวมาทำการดัดแปลงใช้สำหรับนวดถั่วเหลือง อันเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ส่วนการจำหน่ายส่วนใหญ่จำหน่ายให้กับพ่อค้า
ในการผลิตถั่วเหลืองพบว่ามีปัญหาในทุกขั้นตอนการผลิต โดยปัญหาในขั้นตอนการปลูกและการดูแลรักษาเกิดจากสภาพฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล และปัจจัยในการผลิตมีราคาแพง ส่วนปัญหาในการเก็บเกี่ยวและนวดเป็นปัญหาจากการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยพบว่าเฉพาะค่าจ้างแรงงานในการเกี่ยวไม่รวมค่าแรงในครอบครัว เป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการผลิตอื่น จึงควรได้รับการแก้ไขอย่างยิ่ง ซึ่งแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาคือ การนำเครื่องจักรกลเกษตรที่เหมาะสมมาใช้ โดยเฉพาะเครื่องที่สามารถดำเนินการได้ทั้งการเกี่ยวและนวดในคราวเดียวกัน
นอกจากนี้พบว่าเกษตรกร 90.3 เปอร์เซ็นต์ ของเกษตรกรในเขตที่ทำการศึกษา มีความสนใจที่จะจ้างเครื่องเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง โดย 92.7 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนเกษตรกรดังกล่าวมีความต้องการเครื่องเก็บเกี่ยวที่สามารถดำเนินการได้ทั้งการเกี่ยวและนวดในคราวเดียวกัน แต่มีเงื่อนไขการยอมรับคือต้องไม่ทำให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายกับผลผลิตมากกว่าที่เกษตรกรยอมรับได้ อัตราค่าจ้างต้องไม่แพงกว่าวิธีการปฏิบัติเดิม และวิธีการปฏิบัติต้องไม่ยุ่งยาก
2. ผลการทดสอบเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ทางเทคนิค ในการใช้เครื่องเกี่ยวนวดข้าวสำหรับเกี่ยวนวดถั่วเหลือง จำนวน 5 สภาพแปลงทดสอบที่มีความชื้นถั่วเหลืองอยู่ในช่วง 11.84 ถึง 17.62 เปอร์เซ็นต์ wb และมีปริมาณวัชพืชในแปลงอยู่ในช่วง 31,680-396,800 ต้น/ไร่ เมื่อเปรียบเทียบสมรรถนะการทำงานกับการนวดถั่วเหลืองด้วยเครื่องนวดของเกษตรกร (ประสิทธิภาพการทำความสะอาด 94.93-99.67 เปอร์เซ็นต์ ประสิทธิภาพการนวดสูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ เปอร์เซ็นต์เมล็ดแตกหัก 0.00-1.98 เปอร์เซ็นต์ และความสูญเสียเนื่องจากการคัดแยก 0.02-2.02 เปอร์เซ็นต์) พบว่าเครื่องเกี่ยวนวดข้าวที่ไม่มีการดัดแปลงเมื่อใช้เกี่ยวนวดถั่วเหลือง มีประสิทธิภาพการนวดอยู่ในระดับเดียวกันคือสูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ประสิทธิภาพการทำความสะอาดค่อนข้างต่ำอยู่ในช่วง 87.06-95.91 เปอร์เซ็นต์ และมีเปอร์เซ็นต์เมล็ดแตกหักอยู่ในช่วง 1.73-9.62 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูง และพบว่ามีความสูญเสียเนื่องจากการเกี่ยวและความสูญเสียเนื่องจากการคัดแยก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลผลิตเฉลี่ยเท่ากับ 1.31-5.60 และ 0.04-3.26 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเครื่องเกี่ยวนวดข้าวเครื่องนี้มีแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะนำไปใช้สำหรับการเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง โดยต้องมีการปรับปรุงเพื่อลดความสูญเสียเนื่องจากการเกี่ยว ความสูญเสียเนื่องจากการคัดแยก ปริมาณเมล็ดแตกหัก และเพิ่มประสิทธิภาพการทำความสะอาด