การประเมินผลเครื่องคัดขนาดและทำความสะอาด และโต๊ะคัดแยกเพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองโดยเกษตรกร
พิเชต โรจนวงศ์
วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเครื่องจักรกลการเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 114 หน้า.
1993
บทคัดย่อ
-
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลเครื่องคัดขนาดและทำความสะอาด
และโต๊ะคัดแยก เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองโดยเกษตรกร ซึ่งแนวทางการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วยการศึกษาปัญหาการคัดแยกเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองของเกษตรกร
การทดสอบสมรรถนะของเครื่องคัดขนาดและทำความสะอาดและโต๊ะคัดแยกเมล็ดพันธุ์ และการประเมินผลการใช้งานของเครื่องคัดขนาดและทำความสะอาดและโต๊ะคัดแยกเมล็ดพันธุ์
ภายใต้ระบบการใช้งานของเกษตรกร ผลการวิจัยสามารถสรุปได้ดังนี้
- 1) ระบบการคัดแยกเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรประกอบด้วย การร่อนเมล็ดและการคัดเมล็ดที่ไม่ต้องการออกจากเมล็ดพันธุ์ ซึ่งปัญหาที่สำคัญในการคัดแยก ได้แก่ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการรอ และต้องใช้แรงงานและเวลามาก ในการคัดเมล็ดเขียว เมล็ดร้าวเมล็ดถั่วเหลืองพันธุ์ที่ไม่ต้องการ และเมล็ดถูกแมลงทำลาย
- 2) เครื่องคัดขนาดและทำความสะอาด เมื่อใช้กับถั่วที่ปลูกปลายฤดูฝน ซึ่งมีปริมาณส่วนที่ต้องคัดออก 4.22 เปอร์เซ็นต์ พบว่า มีความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพในการคัดแยก 349.94 กก./ชม. และ 43.13 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าการร่อนด้วยตะแกรง 244.22 กก.ต่อชม. และ 10.90 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ การร่อนด้วยเครื่องคัดขนาดและทำความสะอาด ภายหลังการปรับปรุงมีความสามารถในการทำงาน 500 กก./ชม. ซึ่งสูงกว่าการร่อนด้วยตะแกรง 379.24 กก./ชม. และพบว่า เมล็ดพันธุ์ภายหลังการร่อนมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ที่จะจำหน่ายเป็นเมล็ดพันธุ์จึงไม่จำเป็นต้องนำมาคัดอีก สำหรับการใช้กับถั่วที่ปลูกในฤดูแล้ง ซึ่งมีปริมาณส่วนที่ต้องคัดออก 11.18 เปอร์เซ็นต์ พบว่า การร่อนด้วยเครื่องคัดขนาดและทำความสะอาดภายหลังการปรับปรุง มีความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพในการคัดแยก 348.28 กก./ชม และ 32.34 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าการร่อนด้วยตะแกรง 258.42 กก./ชม และ 9.08 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ส่วนการคัดด้วยโต๊ะคัดแยกเมล็ดพันธุ์มีความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพในการคัดแยก 13.14 กก./ชม และ 46.35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าการคัดเมล็ดที่ไม่ต้องการด้วยมือตามที่เกษตรกรปฏิบัติ 6.8 กก./ชม และ 13.29 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ สำหรับการร่อนด้วยเครื่องคัดขนาดและทำความสะอาดภายหลังการปรับปรุงแล้วคัดด้วยโต๊ะคัดแยกเมล็ดพันธุ์ มีความสามารถในการทำงานและประสิทธิภาพในการคัดแยก 12.66 กก./ชม. และ 63.73 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าการร่อนด้วยตะแกรงและคัดเมล็ดที่ไม่ต้องการด้วยมือตามที่เกษตรกรปฏิบัติ 6.74 กก./ชม. และ 14.82 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงสมรรถนะโดยรวมเห็นได้ว่าความสามารถในการทำงาน และประสิทธิภาพในการคัดแยกเมล็ดพันธุ์ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ภายหลังการนวด
- 3) สำหรับถั่วที่ปลูกปลายฤดูฝน ซึ่งมีราคาขายเป็นเมล็ดพืชและเมล็ดพันธุ์ 8.50 และ 12.40 บาท/กก. ตามลำดับ การใช้เครื่องคัดขนาดและทำความสะอาดเพียงเครื่องเดียวในขบวนการคัดเมล็ดพันธุ์ มีจุดคุ้มทุน 1,192.09 กก./ปี และมีระยะเวลาคืนทุน 2.32 ปี ส่วนถั่วที่ปลูกในฤดูแล้ง ซึ่งมีราคาขายเป็นเมล็ดพืชและเมล็ดพันธุ์ 8.20 และ 12.29 บาท/กก. ตามลำดับ การใช้เครื่องคัดขนาดและทำความสะอาด มีจุดคุ้มทุน 1,396.06 กก./ปี และมีระยะเวลาคืนทุนเท่ากับ 4.36 ปี ส่วนการใช้โต๊ะคัดแยกเมล็ดพันธุ์คุ้มทุน 150.59 กก./ปี และมีระยะเวลาคืนทุน 0.25 ปี สำหรับการใช้เครื่องคัดขนาดและทำความสะอาดและโต๊ะคัดแยกเมล็ดพันธุ์ มีจุดคุ้มทุน 1,596.52 กก./ปี และมีระยะคืนทุน 7.05 ปี