บทคัดย่องานวิจัย

การออกแบบและประเมินผลเครื่องตีแยกเส้นใยจากใบสับปะรดสด

สมชาย อานกำปัง

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2537. 133 หน้า.

2537

บทคัดย่อ

การออกแบบและประเมินผลเครื่องตีแยกเส้นใยจากใบสับปะรดสด
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อออกแบบ สร้างและประเมินผลเครื่องตีแยกเส้นใยจากใบสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เครื่องต้นแบบที่ออกแบบและสร้างขึ้นมีส่วนประกอบสำคัญคือ โครงเครื่องมีขนาด ยาว 1092 มม. กว้าง 400 มม. สูง 570 มม. ชุด ใบตีประกอบด้วยใบตีลักษณะสีเหลี่ยมผืนผ้า แท่นป้อนสำหรับใบสับปะรด และต้นกำลังขนาด 1.5 กิโลวัตต์ (2 แรงม้า)
การประเมินผลเครื่องต้นแบบ ใช้ปัจจัยในการศึกษา 3 ปัจจัยคือ

1) ความชื้นของใบสับปะรดสด 4 ระดับ คือ 87.3 84.8 81.7 และ 76.6% (มาตรฐานเปียก) ตามลำดับ
2) จำนวนใบตีแยกเส้นใย 3 ระดับ คือ 4 ใบตีแยก 8 ใบตีแยก และ 16 ใบตีแยก ตามลำดับ
3) ความเร็วเชิงเส้นของปลายใบตีแยก 4 ระดับคือ 21.6 เมตร/วินาที 24.0 เมตร/วินาที 26.4 เมตร/วินาที และ 28.9 เมตร/วินาที ตามลำดับ
ค่าชี้สมรรถนะในการทดสอบเครื่องตีแยกเส้นใยจากใบสับปะรดสดนี้ ได้แก่ อัตราการตีแยกเส้นใยแห้ง เปอร์เซ็นต์ของเส้นใยหลังการฟอก ความเหนียวของเส้นใยหลังการฟอก และความละเอียดของเส้นใยหลังการฟอก ค่าชี้สมรรถนะสูงสุดซึ่งได้จากการทดสอบตีแยกเส้นใยจากใบสับปะรดที่ระดับความชื้น 2 ระดับ คือ 87.3 และ 80.19% (wb) ได้ผลดังนี้
 
 

การทดสอบเดิม

การทดสอบเพื่อยืนยัน

-อัตราการตีแยกเส้นใยแห้ง (กิโลกรัม/ชั่วโมง)

2.11

1.37

-เปอร์เซ็นต์ของเส้นใยหลังการฟอก (%)

2.44

2.39

-ความเหนียวของเส้นใยหลังการฟอก (กรัม/เท็กซ์)

25.89

22.99

-ความละเอียดของเส้นใยหลังการฟอก (เมตร/กรัม)

33.97

32.15


จากผลการศึกษาสามารถสรุปข้อเสนอแนะสำหรับการใช้เครื่องตีแยกเส้นใยจากใบสับปะรดดังนี้
1) การตีแยกเส้นใยควรกระทำภายใน 2 วันหลังการเก็บเกี่ยวใบ (ความชื้น 87.3%wb) เพราะความชื้นของใบสับปะรดสดมีผลต่อการตีแยกเส้นใย ปริมาณเส้นใย และคุณภาพของเส้นใย
2) จำนวนใบตีแยกและความเร็วเชิงเส้นของปลายใบตีแยก ไม่มีผลต่อค่าความเหนียวและความละเอียดของเส้นใย
3) จำนวนใบตีแยกเส้นใยที่แนะนำควรมีจำนวน 8 ใบตีแยก
4) ความเร็วเชิงเส้นของปลายใบตีแยกเส้นใยที่แนะนำควรอยู่ในช่วง 26.4-28.9 เมตร ต่อวินาที