บทคัดย่องานวิจัย

การออกแบบและประเมินผลเครื่องเก็บเกี่ยวปอ

ประหยัด ไพศาลพงษ์

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2538. 106 หน้า.

2538

บทคัดย่อ

การออกแบบและประเมินผลเครื่องเก็บเกี่ยวปอ
ปัจจุปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก สาเหตุเนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการโยกย้ายแรงงานในด้านเกษตรกรรมเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม จึงมีความจำเป็นต้องหาเครื่องมือทุ่นแรงมาช่วยผ่อนคลายปัญหาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเครื่องมือเก็บเกี่ยวปอ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและประเมินผลเครื่องเก็บเกี่ยวปอติดรถไถเดินตามซึ่งแนวทางการศึกษา ประกอบด้วย การศึกษาองค์ประกอบในการออกแบบ การออกแบบ การสร้างการทดสอบและประเมินผลเครื่องเก็บเกี่ยวปอ เครื่องต้นแบบที่ออกแบบและสร้างขึ้นมีส่วนประกอบที่สำคัญ ซึ่งประกอบด้วยโครงเครื่องมีความยาว 2,750 มิลลิเมตร หน้าตัดกว้าง 400 มิลลิเมตร ความสูง 1,200 มิลลิเมตร ใบมีดตัดเป็นแบบในจักรฟันถี่ โดยใช้โซ่ลำเลียงเคลื่อนย้ายลำต้นปอออกภายหลังการตัด และใช้รถไถเดินตาม ขนาด 10 แรงม้า เป็นเครื่องต้นกำลัง
การประเมินผลเครื่องต้นแบบมีปัจจัยในการศึกษา 3 ปัจจัย คือ
  • ความเร็วการลำเลียง จำนวน 4 ระดับ คือ 0.45, 0.60, 0.76 และ 0.92 เมตรต่อวินาที หรือ 85, 115, 145 และ 175 รอบต่อนาที ตามลำดับ
  • ความเร็วเชิงเส้นใบมีดตัด จำนวน 4 ระดับ คือ 41.24, 45.82, 50.40 และ 54.98 เมตรต่อวินาที หรือ 2,250, 2,500, 2,750 และ 3,000 รอบต่อนาที ตามลำดับ
  • ความเร็วในการเคลื่อนที่ 4 ระดับ คือ 1.8, 2.0, 2.2 และ 2.4 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ค่าชี้สมรรถนะในการทดสอบเครื่องเก็บเกี่ยวปอ ได้แก่เปอร์เซ็นต์การตัดขาด อัตราการทำงานเชิงพื้นที่ เปอร์เซ็นต์การลำเลียง และเปอร์เซ็นต์หลงเหลือ จากผลการทดสอบพบว่า เครื่องเก็บเกี่ยวปอมีความเหมาะสมในการทำงาน เมื่อใช้ความเร็วการลำเลียง 0.45 เมตรต่อวินาที ความเร็วเชิงเส้นใบมีดตัด 50.41 เมตรต่อวินาที และความเร็วในการเคลื่อนที่ 2.2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งผลของสมรรถนะที่ได้จากการทดสอบเครื่องเก็บเกี่ยวปอมีดังนี้
  • อัตราการทำงานเชิงพื้นที่ 0.3 ไร่/ชม.
  • เปอร์เซ็นต์การตัดขาด 99.67 เปอร์เซ็นต์
  • เปอร์เซ็นต์การลำเลียง 99.51 เปอร์เซ็นต์
  • ปอหลงเหลือ 1.11 เปอร์เซ็นต์