บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาการใช้ตาข่ายพลาสติก ผ้าใบพลาสติก และลานคอนกรีตในการตากข้าวเปลือกของเกษตรกร

เชิดศักดิ์ ศิริหล้า

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2538. 98 หน้า.

2538

บทคัดย่อ

การศึกษาการใช้ตาข่ายพลาสติก ผ้าใบพลาสติก และลานคอนกรีตในการตากข้าวเปลือกของเกษตรกร
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาความเหมาะสมในด้านเทคนิค วิธีการ และความคุ้มค่าของการใช้ตาข่ายพลาสติก ผ้าใบพลาสติก และลานคอนกรีตในระบบปฏิบัติของเกษตรกร ซึ่งผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้
1. ระบบการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรมี 2 ระบบ คือ ระบบการเก็บเกี่ยวแล้วนวด และระบบการเกี่ยวพร้อมกับการนวด สำหรับระบบการเก็บเกี่ยวแล้วนวด เกษตรกรเกี่ยวและตากข้าวเปลือกก่อนการนวด ข้าวเปลือกจึงมีความชื้นไม่สูงมาก การใช้วัสดุรองตากจึงไม่ค่อยมีความจำเป็น ส่วนระบบการเก็บเกี่ยวพร้อมกับการนวด ใช้เครื่องเกี่ยวนวดเก็บเกี่ยวในขณะที่ข้าวมีความชื้นสูง การเก็บเกี่ยวทั้ง 2 ระบบ เกษตรกรตากข้าวเปลือกภายหลังการนวด 29.9% ไม่ตาก 58.7% และตากบางส่วน 11.4% สาเหตุที่เกษตรกรไม่ตากข้าวเปลือกภายหลังการนวดเพราะข้าวเปลือกมีความชื้นต่ำอยู่แล้ว 20% และหลายสาเหตุเช่น ไม่มีเวลา ไม่มีแรงงาน ไม่มีพื้นที่ตาก ตลอดจนต้องการใช้เงินทันที 80% เกษตรกรใช้ตาข่ายพลาสติกเป็นวัสดุปูรองตากข้าวเปลือก 66.7% ผ้าใบพลาสติก 18% และลานคอนกรีต 5.9%
2. การใช้ตาข่ายพลาสติกขนาด 106.9 ตารางเมตร ร่วมกับผ้าใบพลาสติก ซึ่งมีราคาชุดละ 2,380 บาท และตากข้าวเปลือกได้ครั้งละ 2.4 ตัน จะคุ้มค่าเมื่อตากข้าวเปลือกที่ระดับความชื้นเริ่มต้น 20-25% ให้มีความชื้นลดลงเหลือ 15% โดยใช้งานปีละ 2 ครั้ง และตากแต่ละครั้งไม่เกิน 10 วัน ส่วนการตากข้าวเปลือกที่ระดับความชื้นเริ่มต้น 18-19% จะคุ้มค่าเมื่อใช้งานปีละ 2 ครั้ง เช่นเดียวกัน แต่การตากแต่ละครั้งต้องไม่เกิน 3 วัน สำหรับผ้าใบพลาสติกนั้น หากใช้ขนาด 125.4 ตารางเมตร รวม 2 ผืน สำหรับรองตากและคลุมกันฝนจะมีราคาชุดละ 3,240 บาท ซึ่งจะตากข้าวเปลือกได้ครั้งละ 2.8 ตัน และจะคุ้มค่าเมื่อใช้ตากข้าวเปลือกที่ระดับความชื้นเริ่มต้น 20-25% ให้มีความชื้นลดลงเหลือ 15% โดยใช้ตากปีละ 2 ครั้ง แต่ละครั้งตากไม่เกิน 6 วัน แต่ถ้าตากข้าวเปลือกที่ระดับความชื้นเริ่มต้น 16-17% และ 18-19% จะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ส่วนลานคอนกรีตถ้าเกษตรกรลงทุนเองในราคา 120,000 บาท สำหรับลานขนาด 400 ตารางเมตร โดยไม่รวมค่าที่ดิน จะไม่คุ้มกับการลงทุน หากรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเกษตรกรจึงจะคุ้มค่าในการตากข้าวเปลือก