บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาวิธีการลอกเยื่อหุ้มเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ด้วยความดันลม

สมศักดิ์ อังกุรวัฒนานุกูล

วิทยานิพนธ์ (วศ.ม.) สาขาวิชาเครื่องจักรกลเกษตร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2538. 86 หน้า.

2538

บทคัดย่อ

การศึกษาวิธีการลอกเยื่อหุ้มเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ด้วยความดันลม

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อทำการศึกษาเบื้องต้นถึงขนาดเนื้อในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์แรงกดอัดที่ทำให้เมล็ดเนื้อในแตกหัก และระดับความดันลมที่สามารถลอกเยื่อหุ้มเมล็ดได้ แล้วจึงทำการศึกษาการลอกเยื่อหุ้มเมล็ดโดยวิธีการใช้ความดันลม โดยศึกษาอุณหภูมิ เวลาในการอบเนื้อในเมล็ดมะม่วงหินพานต์ และเวลาในการผึ่งหลังการอบ การแช่เนื้อในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ในน้ำปูนใสและน้ำสารส้ม และศึกษาเปรียบเทียบการลองเยื่อหุ้มเมล็ด โดยวิธีการใช้ความดันลมร่วมการสะกิดรอยเปิดกับวิธีการใช้มีดขูด ซึ่งสามารถสรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
1.ขนาดของเนื้อในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มีความกว้างอยู่ในช่วง 15.01 ถึง 21.00 มิลลิเมตร ความยาวอยู่ในช่วง 22.01 ถึง 28.00 มิลลิเมตร และความหนาอยู่ในช่วง 9.01 ถึง 16.00 มิลลิเมตร แรงกดอัดต่ำสุดที่ทำให้เมล็ดเนื้อในแตกหัก 0.90 กิโลกรัม ในทิศทางตามแนวขั้วเมล็ด และระดับความดันลมอยู่ในช่วง 620 ถึง 896 กิโลปาสคาล

2.ผลการลอกเยื่อหุ้มเมล็ดโดยวิธีการใช้ความดันลม 758 กิโลปาสคาล ร่วมการสะกิดรอยเปิด ให้อัตราการลอกเยื่อหุ้มเมล็ด และเปอร์เซ็นต์เนื้อในเต็มเมล็ดสูงกว่าวิธีการใช้ความดันลมผสมเกลือป่นและวิธีการใช้ความดันลมที่มีตัวสะกิดรอยเปิดในกระบอก ซึ่งให้อัตราการลอกเยื่อหุ้มเมล็ด 1.04 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เนื้อในเต็มเมล็ด 98.81 เปอร์เซ็นต์ และเนื้อในแตกหลายชิ้น 1.19 เปอร์เซ็นต์

3.ผลการอบเนื้อในเมล็ดมะม่วงหินมพานต์ ที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส นาน 4 ชั่วโมง ผึ่งไว้ที่อุณหภูมิห้อง 0.5 ชั่วโมง การลอกเยื่อหุ้มเมล็ดโดยวิธีการใช้ความดันลม 758 กิโลปาสคาล ร่วมการสะกิดรอยเปิดให้อัตราการลอกเยื่อหุ้มเมล็ด 1.39 กิโลกรัมต่อชั่วโมง เนื้อในเต็มเมล็ด 87.78 เปอร์เซ็นต์ และเนื้อในครึ่งซีก 5.75 เปอร์เซ็นต์
ผลการแช่เนื้อในเมล็ดมะม่วงหินก่อนการอบ พบว่าไม่จำเป็นต้องแช่เนื้อในเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ในน้ำปูนใส หรือแช่ในน้ำสารส้ม เนื่องจากให้ผลการลอกเยื่อหุ้มเมล็ดต่ำกว่าการไม่แช่ก่อนอบ

4. ผลการทดสอบเปรียบเทียบวิธีการลอกเยื่อหุ้มเมล็ด พบว่าวิธีการใช้ความดันลมร่วมการสะกิดรอยเปิดให้อัตราการลอกเยื่อหุ้มเมล็ด 1.16 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งสูงกว่าวิธีการใช้มีดขูดประมาณ 2 ท่า แต่ให้เนื้อในเต็มเมล็ด 87.97 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าวิธีการใช้มีดขูด ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่การลอกเยื่อหุ้มเมล็ดโดยวิธีการใช้มีดขูด ขายเนื้อในเต็มเมล็ด เนื้อในครึ่งซีก และเนื้อในแตกหลายชิ้น ได้จำนวนเงินมากกว่าวิธีการใช้ความดันลมร่วมการสะกิดรอยเปิดประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัม (เมล็ดเนื้อใน) ทั้งนี้โดยคิดราคาขายในท้องตลาด ซึ่งเนื้อในเต็มเมล็ด เนื้อในครึ่งซีก และเนื้อในแตกหลายชิ้น มีราคา 180, 100 และ 50 บาทต่อกิโลกรัม แต่ไม่สามารถกล่าวได้ว่าจะมีความคุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์หรือไม่ หากมีการนำวิธีการลอกเยื่อหุ้มเมล็ดนี้ไปใช้ในงานอุตสาหกรรมการแปรรูปเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ซึ่งต้องลงทุนค่อนข้างสูงในส่วนของการจัดซื้อเครื่องต้นกลัง และอุปกรณ์