การใช้อุณหภูมิสลับและอุณหภูมิสูงก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำต่ออาการสะท้านหนาวและคุณภาพของผลมะละกอพันธุ์แขกดำ
ลดาศิริ หัวใจแก้ว
วิทยานิพนธ์ (วท.ม. เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า, 2542. 120 หน้า.
2542
บทคัดย่อ
มะละกอพันธุ์แขกดำ นำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 15 องศาเซลเซียส และเก็บรักษาโดยใช้อุณหภูมิสลับเป็นเวลา 3 วัน ที่ 2 ระดับอุณหภูมิ คือ 15 และ 20 องศาเซลเซียส จากนั้นย้ายไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2 วัน ทำการสลับอุณหภูมิ 2 ครั้ง และการใช้อุณหภูมิสูงที่ 2 ระดับอุณหภูมิคือ อุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 และ 48 ชั่วโมง และอุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 และ 12 ชั่วโมง จากนั้นย้ายไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียสตลอดการทดลอง พบว่าผลมะละกอที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส เกิดอาการสะท้านหนาวมากที่สุด โดยอาการสะท้านหนาวที่พบ ได้แก่ การเกิดรอยบุ๋ม (pitting) และเมื่อย้ายมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องพบว่าผลมะละกอไม่สามารถสุกได้ตามปกติ ในขณะที่ผลมะละกอที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส ไม่พบอาการสะท้านหนาวและสามารถสุกได้ตามปกติ ส่วนการใช้อุณหภูมิสลับ พบว่า สามารถลดการเกิดอาการสะท้านหนาวได้ โดยมีดัชนีการเกิดอาการสะท้านหนาว และการรั่วไหลของประจุน้อยกว่าผลมะละกอที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส นอกจากนี้การใช้อุณหภูมิสลับสามารถทำให้ผลมะละกอมีการสุกที่ดีขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงสีผิวปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ ปริมาณน้ำตาลรีดิวซิงค์ เพิ่มขึ้นมากกว่า ส่วนความแน่นเนื้อลดลงมากกว่าผลมะละกอที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส และการใช้อุณหภูมิสลับ 15 และ 20 องศาเซลเซียส พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในประสิทธิภาพการลดอาการสะท้านหนาว แต่การเก็บรักษาโดยใช้อุณหภูมิสลับ 15 องศาเซลเซียส มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานกว่าการเก็บรักษาโดยใช้อุณหภูมิสลับ 20 องศาเซลเซียส สำหรับการใช้อุณหภูมิสูงก่อนการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส พบว่า สามารถลดการเกิดอาการสะท้านหนาวได้ โดยผลมะละกอที่ใช้อุณหภูมิสูง 42 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 ชั่วโมง สามารถลดการเกิดอาการสะท้านหนาวดีที่สุด โดยมีดัชนีการเกิดอาการสะท้านหนาว และการรั่วไหลของประจุน้อยที่สุด มีการสุกที่ดี การเปลี่ยนแปลงสีผิว ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ปริมาณน้ำตาลรีดิวซิงค์ และปริมาณโพลีเอมีน เพิ่มมากกว่าผลมะละกอที่ได้รับอุณหภูมิสูงระดับอื่น ๆ ส่วนการเปลี่ยนแปลงความแน่นเนื้อ พบว่ามีความแน่นเนื้อของผลลดลงมากกว่าผลมะละกอที่เก็บรักษาในระดับอุณหภูมิอื่น ๆ