บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาอาการสะท้านหนาวของผลมะละกอพันธุ์แขกดำ

สุทธิวัลย์ สีทา

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

2538

บทคัดย่อ

การศึกษาอาการสะท้านหนาวของผลมะละกอพันธุ์แขกดำ

                จากการศึกษาการเก็บรักษาผลมะละกอพันธุ์แขกดำที่อุณหภูมิ  5  และ  15  องศาเซลเซียส  พบว่า  ผลมะละกอที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ  5  องศาเซลเซียส  เกิดอาการสะท้านหนาว  (Chilling, CI)  โดยเริ่มปรากฏอาการ  CI  ขึ้นหลังจากวันที่  15  ของการเก็บรักษา  และอาการที่พบคือ  อาการ  pitting  ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการ  CI  เกิดขึ้นมากกว่าร้อยละ  20  ในวันที่  30  ของการเก็บรักษา  และอาการ  CI  มีการแสดงออกอย่างชัดเจนเมื่อย้ายผลมะละกอมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา  24  ชั่วโมง  นอกจากนี้ในผลมะละกอที่เกิด  CI  ยังไม่พบการเกิด  climacteric rise  และมีอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนต่ำลง  ในขณะที่ผลมะละกอที่เก็บรักษายังอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ  15  องศาเซลเซียส  พบว่ามีการเกิด  climacteric rise  ขึ้นในวันที่ 3  ของการเก็บรักษา  และสามารถสุกได้ตามปกติภายในเวลา  10  วัน   นอกจากอาการ  CI  ที่ปรากฏให้เห็นแล้ว  เมื่อนำเนื้อเยื่อของผลมะละกอที่เกิด  CI  มาวัดการรั่วไหลของประจุ  พบว่ามีปริมาณการรั่วไหลของประจุเพิ่มขึ้นไปตามอายุการเก็บรักษา  ในขณะที่ปริมาณ  putresine spermidine  และ  spermine  ลดลง  ส่วนกิจกรรมของเอนไซม์  peroxidase  มีปริมาณเพิ่มขึ้น  โดยมีค่าสูงสุด  ในวันที่  10  ของการเก็บรักษา  หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ  ลดลง  เมื่อสิ้นสุดการเก็บรักษา   พบว่าผลมะละกอที่เกิด  CI  ไม่สามารถสุกได้อย่างปกติ