บทคัดย่องานวิจัย

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา และองค์ประกอบทางเคมีของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ

เจือจันทร์ ตั้งเติมทอง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

2541

บทคัดย่อ

การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา และองค์ประกอบทางเคมีของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ที่เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ

                การเก็บรักษามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้  (Mangifera  indica  cv.  Nam Dokmai)  ที่อุณหภูมิต่ำ  8 องศาเซลเซียส  สามารถเก็บรักษาได้นานกว่าที่อุณหภูมิ  20  องศาเซลเซียส  โดยมีอายุการเก็บรักษาประมาณ  10  และ  20  วันตามลำดับ  การเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ  8  องศาเซลเซียส  ทำให้มะม่วงไม่เกิดการสุกซึ่งเป็นผลจาก  chilling  injury  และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและทางเคมีของมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้  ได้แก่  ความแน่นเนื้อ  สีเปลือกและสีเนื้อ  ปริมาณ  soluble solids  ปริมาณ  titratable  acidity  และอัตราการหายใจ  มีการเปลี่ยนแปลงคงที่ตลอดระยะเวลาเก็บรักษา  ขณะที่ผลมะม่วงที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ  20  องศาเซลเซียสเกิดการสุกตามปกติ  มีการเปลี่ยนแปลงความแน่นเนื้อลดลง  สีเปลือกและสีเนื้อเปลี่ยนเป็นสีเหลืองตามค่า  yellow  index   และค่า  a  เพิ่มขึ้น  ปริมาณ  soluble  solids  เพิ่มขึ้น  ปริมาณ  titratable  acidity  ลดลง  และมีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้นระหว่างการเก็บรักษา  ส่วนปริมาณน้ำตาลรีดิวซ์  ปริมาณ  total  nonstructural  carbohydrates  อัตราการผลิตก๊าซเอทิลีน  มีการเปลี่ยนแปลงไม่แตกต่างจากผลปกติที่อุณหภูมิ 20  องศาเซลเซียส  นอกจากนี้มะม่วงที่เก็บรักษาทั้งสองระดับอุณหภูมิมีการสูญเสียน้ำหนักเพิ่มขึ้น  แต่ผลที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ  8  องศาเซลเซียสมีการสูญเสียน้ำหนักน้อยกว่า    สำหรับปริมาณโพลีเอมีน  3 ชนิด  ได้แก่  putrescine,  spermidine  และ  spermine   พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงลดลง  โดยผลที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ  8  องศาเซลเซียส  มีปริมาณโพลีเอมีนทั้ง  3 ชนิด มากกว่าผลปกติที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิ  20  องศาเซลเซียส  โดยมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางสรีรวิทยา และทางเคมีอย่างรวดเร็วในช่วงวันที่  4  ของการเก็บรักษา  ขณะที่ผลที่เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ  8  องศาเซลเซียส  ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  และผลมะม่วงที่เก็บรักษาทั้งสองระดับอุณหภูมิเกิด  ethylene  peak  ก่อน  climacteric  peak