การตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของพืชดัดแปรพันธุกรรมในน้ำมะเขือเทศ
กมลา มะโรหบุตร
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
2543
บทคัดย่อ
มะเขือเทศเป็นพืชชนิดแรกที่มีการดัดแปรพันธุกรรมและวางจำหน่ายเป็นการค้ามีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพผลให้ดียิ่งขึ้น ผลดังกล่าวทำให้ผลิตภัณฑ์จากมะเขือเทศดัดแปรพันธุกรรมแพร่กระจายทั่วไปในตลาดโลก สำหรับประเทศไทยอาจจะมีแนวโน้มในการนำมะเขือเทศดัดแปรพันธุกรรมมาใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปต่าง ๆ ได้ ผลิตภัณฑ์น้ำมะเขือเทศเป็นอีกผลิตภัณฑ์หนี่งที่ใช้มะเขือเทศเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นจึงทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์น้ำมะเขือเทศที่วางจำหน่ายทั่วไปในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 15 ตัวอย่าง จากนั้นทำการสกัดดีเอ็นเอด้วยเรซินสังเคราะห์และทำการวิเคราะห์ GMOs โดยใช้เทคนิค Polymerase Chain Reaction (PCR) โดยทำการเพิ่มจำนวนบริเวณ 35S promoter และส่วนหนึ่งของยีน Polygalacturonase (PG gene) ซึ่งมีในธรรมชาติ แล้วนำมาตรวจสอบขนาดโดยใช้เทคนิค Electrophoresis โดยผลการทดลองพบว่า เมื่อตรวจสอบจากการปรากฎตัวของยีน PG ดีเอ็นเอ ที่สกัดได้สามารถเพิ่มปริมาณด้วย PCR ได้ และเมื่อตรวจสอบด้วย 35S promoter พบว่ามีการปนเปื้อนของวัตถุดิบที่เป็นมะเขือเทศดัดแปรพันธุกรรมร้อยละ 86.67 (หรือร้อยละ 13.33 ไม่พบการปนเปื้อน) ในน้ำมะเขือเทศ โดยพบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้มะเขือเทศดัดแปรพันธุกรรมเป็นวัตถุดิบส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น