การใช้แคลเซียมคลอไรด์และสภาพบรรยากาศดัดแปลงต่อสภาพของขนและเปลือกเงาะเพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลเงาะ
เฉลิมชัย วงษ์อารี ศิริชัย กัลยาณรัตน์ ผ่องเพ็ญ จิตอารีย์รัตน์ อภิรดี อุทัยรัตนกิจ และภาณุมาศ โพธิ์สุยะ
รายงานการวิจัย สายวิชาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว คณะทรัพยากรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ศูนย์ส่งเสริมงานวิจัย มจธ., กรุงเทพฯ. 2542. 96 หน้า.
2542
บทคัดย่อ
การแช่ผลเงาะพันธุ์โรงเรียน ในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) ที่ระดับความเข้มข้นร้อยละ 0 1 2 และ 4 เป็นเวลา 10 นาที ก่อนนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 และ 25 องศาเซลเซียส พบว่าผลเงาะที่แช่ในสารละลาย CaCl2 ร้อยละ 1 แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลเงาะได้ดีกว่าทุกวิธีการเก็บรักษา โดยมีคะแนนการยอมรับจากผู้บริโภคสูงที่สุด และมีการสูญเสียน้ำหนักน้อยกว่าผลเงาะที่แช่ในสารละลาย CaCl2 ร้อยละ 0 2 และ 4 ตามลำดับ แคลเซียมในเนื้อเยื่อเปลือกเงาะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น โดยผลเงาะที่แช่ในสารละลาย CaCl2 ร้อยละ 4 มีปริมาณแคลเซียมภายในเนื้อเยื่อมากกว่าการแช่ผลเงาะในสารละลาย CaCl2 ร้อยละ 2 1 และ 0 ตามลำดับ จากการตัดเนื้อเยื่อบริเวณขนเงาะไปส่องภายใต้กล้อง electron microscope พบว่าการใช้ CaCl2 ร้อยละ 1 มีผลต่อการทำให้ปากใบของผละเงาะปิด นอกจากนี้ CaCl2 ที่ใช้ยังมีผลต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผลเน่า (Botryodiplodia theobromae) โดยมีประสิทธิภาพดีต่อผลเงาะที่เกิดบาดแผลหลังจากที่แช่สารละลาย CaCl2 แล้ว สำหรับการเก็บรักษาผลเงาะที่ผ่านการแช่ในสารละลาย CaCl2 ความเข้มข้นร้อยละ 1 ภายใต้สภาพบรรยากาศดัดแปลง โดยใช้ถุงพลาสติกโพลิเอทิลีน (Polyethylene, PE) ชนิดถุงปากปิดผนึกที่เจาะรู 4 รู และไม่เจาะรู แล้วนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส พบว่าผลเงาะที่เก็บรักษาในถุงพลาสติก PE ไม่เจาะรู มีอายุการเก็บรักษานานที่สุด 12 วัน ในขณะที่การเก็บรักษาในถุง PE เจาะรูมีอายุการเก็บรักษาเพียง 10 วัน นอกจากนี้ยังมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคอีกด้วย