บทคัดย่องานวิจัย

ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงและการเคลือบผิวต่ออายุการเก็บรักษาเงาะพันธุ์โรงเรียน

วาริช ศรีละออง

วิทยานิพนธ์ (วท.ม เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2540. 132 หน้า.

2540

บทคัดย่อ

ผลของสภาพบรรยากาศดัดแปลงและการเคลือบผิวต่ออายุการเก็บรักษาเงาะพันธุ์โรงเรียน

                การเก็บรักษาผลเงาะพันธุ์โรงเรียนภายใต้สภาพบรรยากาศดัดแปลงด้วยวิธีการเคลือบผิวด้วย  Sucrose  Fatty  Ester  3  ชนิด  8nv  M-1695,  P-1670  และ  S-1670  ที่ระดับความเข้มข้น 3000 มิลลิกรัมต่อลิตร  การเก็บรักษาในถุงพลาสติกโพลีเอทิลีนชนิดถุงปากปิดผนึกที่เจาะรูและไม่เจาะรู  การเก็บรักษาในกล่องกระดาษลูกฟูกโดยหุ้มกล่องและ/หรือกรุช่องระบายอากาศด้วยพลาสติกฟิล์ม  linear  low  density  polyethylene  (LLDPE)  และ  polyvinylchloride  (PVC)  และการเก็บรักษาในสภาพที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ  0.03,  5  และ  10  ตามลำดับ  แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ  12  องศาเซลเซียส  (ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90)  พบว่า  ผลเงาะที่ไม่ได้เก็บรักษาในสภาพบรรยากาศดัดแปลงมีอายุการเก็บรักษาประมาณ  8-10  วัน  โดยเกิดอาการ  chilling  injury  ผลเงาะที่เก็บรักษาโดยการเคลือบผิวด้วยสาร  sucrose  fatty  ester  ทุกชนิด  มีอายุการเก็บรักษาเท่ากันคือ  12  วัน  แต่ผลเงาะที่เคลือบผิวด้วยสารเคลือบชนิด  M-1695  สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพภายในของผลเงาะได้ดีที่สุด  โดยลักษณะปรากฎภายนอกของผลเงาะที่เคลือบผิวด้วยสารทั้ง 3 ชนิด  ไม่แตกต่างกันมากนัก  ผลเงาะที่เก็บรักษาในถุงพลาสติกโพลีเอทิลีนไม่เจาะรูมีอายุการเก็บรักษานาน  16 วัน  โดยมีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในถุงร้อยละ 8-16  และก๊าซออกซิเจนร้อยละ  6-13  ในขณะที่การเก็บรักษาในถุงพลาสติกโพลีเอทิลีนที่เจาะรู 1  2  และ  3  รู  มีอายุการเก็บรักษาเพียง  12  วัน  โดยมีความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ภายในถุงประมาณร้อยละ  1-2  และก๊าซออกซิเจนร้อยละ  19-20  การเก็บรักษาในกล่องกระดาษลูกฟูกที่หุ้มภายนอกกล่องด้วยพลาสติกฟิล์ม  PVC  ยี่ห้อ  /wrap  และพลาสติกฟิล์ม  LLDPE  ยี่ห้อ  Best wrap  พบว่า  การใช้พลาสติกฟิล์ม  PVC  ทำให้ผลเงาะมีคุณภาพดีที่สุด  โดยมีอายุการเก็บรักษา  18  วัน  และ  16  วัน ตามลำดับ  ส่วนการเก็บรักษาผลเงาะในกลุ่งที่กรุช่องระบายอากาศด้วยพลาสติกฟิล์มทั้ง  2 ชนิด  มีอายุการเก็บรักษาไม่แตกต่างกันคือ  16 วัน  การเก็บรักษาผลเงาะในสภาพที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ  10 สามารถรักษาคุณภาพของผลเงาะได้ดีนาน  18  วัน  โดยสามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีได้ดีกว่าการเก็บรักษาในสภาพที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้นร้อยละ 5  และ 0.03  ตามลำดับ  แต่พบว่าการเก็บรักษาในสภาพที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ความเข้มข้นสูงมีผลทำให้เกิดการสลายตัวของวิตามินซีในระหว่างการเก็บรักษามากกว่าผลเงาะที่เก็บรักษาในสภาพบรรยากาศปกติ  ตัวแปรสำคัญที่กำหนดอายุการเก็บรักษาผลเงาะคือ  การพัฒนาของโรค  โดยสามารถแยกเชื้อราจากผลที่เป็นโรคได้  4 ชนิด  คือ   Botryodiplodia sp.  Phomopsis  sp.  Pestalotia sp.  และ  Aspergillus sp.