บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการเคลือบผิวด้วยไคโตแซนต่อการชะลอการสุกของผลกล้วยหอมพันธุ์คาเวนดิช

สุทธิวัลย์ สีทา

วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2542. 130 หน้า.

2542

บทคัดย่อ

ผลของการเคลือบผิวด้วยไคโตแซนต่อการฃะลอการสุกของผลกล้วยหอมพันธุ์คาเวนดิช

                ได้ศึกษาผลของการเคลือบผิวกล้วยหอมพันธุ์คาเวนดิช  (Musa  AAA)  ด้วยไคโตแซน  ที่มีน้ำหนักโมเลกุลและความเข้มข้นต่าง ๆ  ต่อการฃะลอการสุกในระหว่างการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส  ความชื้นสัมพัทธ์  85-90 %  และศึกษาเปรียบเทียบผลของไคโตแซนกับสารเคลือบผิว  S-1670  และ  KF-8000 DX  ที่มีต่อการสุกของผลกล้วยหอม  พบว่าการเคลือบผิวกล้วยหอมด้วยสารไคโตแซนสามารชะลอการสุกได้  ผลที่เคลือบด้วยไคโตแซนชนิดที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง  (HMW)  จะทำให้กล้วยสุกเหมาะสมต่อการบริโภคในวันที่  25  ของการเก็บรักษา  ส่วนผลที่เคลือบผิวด้วยไคโตแซนชนิดที่มีน้ำหนักโมเลกุลขนาดกลาง  (MMW)  และน้ำหนักโมเลกุลต่ำ   (LMW) กล้วยสุกพอเหมาะในวันที่  20  และ  17.5  วันตามลำดับ  นอกจากนั้นยังพบว่าผลกล้วยที่เคลือบผิวด้วยไคโตแซนชนิด  HMW  มีการสูญเสียน้ำหนักช้ากว่า  และรักษาสีเขียวของเปลือกได้นานกว่า  เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการเคลือบด้วยไคโตแซนชนิดที่มีชนาดน้ำหนักโมเลกุลสูงที่ความเข้มข้นต่าง ๆ  พบว่าการเคลือบด้วยไคโตแซนที่ความเข้มข้น 1.5%  และ  2.0%  สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงสีของเปลือก  ชะบอการลดลงของปริมาณคลอโรฟิลล์และแป้ง  ปริมาณน้ำตาลจึงเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ  ทำให้สามารถรักษาความแน่นเนื้อของผลกล้วยไว้ได้นานขึ้น  การเคลือบผลกล้วยด้วยไคโตแซนชนิด  HMW  ที่ความเข้มข้น  1.5%  และ  2.0%  ยืดอายุการเก็บรักษายาวนานที่สุดคือ 25 วัน  และในวันที่ 10 ของการเก็บรักษา  พบว่าผลกล้วยที่ได้รับการเคลือบผิวมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ภายในผลเพิ่มขึ้น  (7.8%)  ในขณะที่ปริมาณออกซิเจนลดลง  (13.7%)  นอกจากนั้นยังสามารถชะลอการเกิด climacteric peak  ของอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีนด้วย  เมื่อเปรียบเทียบกับผลที่ไม่ได้รับการเคลือบผิวอย่างไรก็ตามทั้งผลกล้วยหอมที่เคลือบและไม่เคลือบผิว  ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงปริมาณโพลีเอมีนในระหว่างการเก็บรักษา  การเพิ่มความเข้มข้นของไคโตแซนจาก  1.5%  เป็น  2.0%  ไม่มีผลต่อการยืดอายุการเก็บรักษา  และยังพบว่าการเคลือบผลกล้วยด้วยไคโตแซนชนิด  HMW  ที่ความเข้มข้น 1.5%  สามารถฃะลอการสุกของกล้วยได้เช่นเดียวกันกับการเคลือบผลกล้วยด้วยสารเคลือบผิว  S-1670  และ  KF-8000 DX