บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์และผลผลิตของถั่วลิสงเมล็ดโต

ภารดี แซ่อึ้ง

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2541. 130 หน้า.

2541

บทคัดย่อ

อิทธิพลของระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์และผลผลิตของถั่วลิสงเมล็ดโต

            การศึกษาอิทธิพลของระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่มีต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์และผลผลิตของถั่วลิสงเมล็ดโตพันธุ์เกษตรศาสตร์ 50  และพันธุ์เกษตร 1  ที่ปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้ง  ได้ดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม 2537  ถึงเดือนมกราคม 2538  และเดือนธันวาคม 2537  ถึงเดือนพฤษภาคม 2538  ณ แปลงทดลองศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ  อ.ปากช่อง  จ.นครราชสีมา  ส่วนการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ได้ดำเนินการ  ณ  ห้องปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์  ภาควิชาพืชไร่นา  คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตบางเขน  กรุงเทพมหานคร

          ผลการศึกษาพบว่า  การเก็บเกี่ยวถั่วลิสงทั้งสองพันธุ์  ที่ปลูกในฤดูฝนและฤดูแล้ง  ที่อายุ 100-156  วันหลังปลูกจะมีความชื้นของเมล็ดพันธุ์ลดลงเมื่อเก็บเกี่ยวล่าช้าออกไป  การเก็บเกี่ยวที่อายุ 142  วันหลังปลูก  มีคุณภาพของเมล็ดพันธุ์และผลผลิตเมล็ดพันธุ์สูงที่สุดเมื่อเทียบกับการเก็บเกี่ยวที่ระยะเวลาอื่น ๆ  กล่าวคือ  การเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวนี้  มีจำนวนเมล็ดสุกแก่  และน้ำหนักเมล็ดสุกแก่มากที่สุด  และยังมีเมล็ดขนาดใหญ่มากที่สุดด้วย  ในด้านขององค์ประกอบผลผลิตและคุณภาพเมล็ดพันธุ์  การเก็บเกี่ยวที่อายุ  142 วันหลังปลูก  มีจำนวนฝักต่อต้น  น้ำหนักเมล็ด  ผลผลิตฝักแห้ง  ผลผลิตเมล็ด  และเปอร์เซ็นต์กระเทาะ  ตลอดจนมีความงอกและความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ที่วัดจากค่าดัชนีการงอกของเมล็ด  ความงอกของเมล็ดพันธุ์หลังผ่านการเร่งอายุ  และความสามารถในการเก็บรักษาสูงสุด  ฉะนั้นการเก็บเกี่ยวถั่วลิสงทั้สองพันธุ์ที่อายุ 142 วันหลังปลูก  จึงเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุด  นอกจากนี้ยังพบว่า  ถั่วลิสงทั้งสองพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวใหม่ ๆ  มีการฟักตัวสูงมาก  ไม่ว่าจะเก็บเกี่ยวที่ระยะเวลาใดก็ตาม  แต่การพักตัวของเมล็ดจะหมดไปหลังจากเก็บรักษาเมล็ดไว้เป็นระยะเวลา 6 เดือน ที่อุณหภูมิห้อง