ผลของการเก็บเกี่ยวล่าช้า วิธีการนวด และการเก็บรักษาในสภาพต่างๆ ต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง (Glycine max (L.) Merr.)
อนงค์ รัตนอุบล
วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาวิชาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2531. 86 หน้า.
2531
บทคัดย่อ
การศึกษาถึงผลของการเก็บเกี่ยวล่าช้า วิธีการนวด และการเก็บรักษาในสภาพต่าง ๆ ต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง ได้ดำเนินการปลูกถั่วเหลือง 2 พันธุ์ คือ สจ.2 และ สจ.4 ที่แปลงทดลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม ในปี พ.ศ. 2528 วางแผนการทดลองในแปลงแบบ split plot design โดยมีพันธุ์เป็น main plot และอายุการเก็บเกี่ยวเมล็ดเป็น sub plot และดำเนินการทดสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ในห้องปฏิบัติการระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2529 วางแผนการทดลองแบบ factorial in completely randomized design ซึ่งมีสิ่งทดลอง 2 ปัจจัย คือ ประวัติของเมล็ดและสภาพการเก็บรักษา โดยประวัติของเมล็ดประกอบด้วย อายุการเก็บเกี่ยวเมล็ดที่ 10, 20 และ 30 วันหลังระยะสุกแก่ทางสรีระ และวิธีการนวด 2 วิธี คือ กะเทาะเมล็ดด้วยมือและใช้ไม้ทุบ ส่วนสภาพการเก็บรักษามี 3 สภาพ คือ สภาพไม่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ สภาพเก็บรักษาเมล็ดที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส และควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ของบรรยากาศเป็น 45 และ 90 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
ผลการทดลอง ปรากฏว่า พันธุ์และอายุเก็บเกี่ยวไม่มีผลต่อผลผลิตของถั่วเหลือง แต่คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองขึ้นกับประวัติของเมล็ดทั้งอายุเก็บเกี่ยวและวิธีการนวด โดยเฉพาะถ้าการเก็บเกี่ยวช้าเกินไป ซึ่งพบว่าเก็บเกี่ยวเมล็ดที่ 30 วันหลังระยะสุกแกทางสรีระทำให้คุณภาพเมล็ดพันธุ์ต่ำที่สุด และวิธีการนวดโดยการกะเทาะเมล็ดด้วยมือ ทำให้เมล็ดมีคุณภาพดีกว่าการใช้ไม้ทุบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการนวดโดยใช้ไม้ทุบกับเมล็ดที่ถูกเก็บเกี่ยวช้า หรือกับเมล็ดที่มีความชื้นของเมล็ดสูงเนื่องจากถูกฝนก่อนการเก็บเกี่ยวจะช่วยเพิ่มความเสียหายให้แก่เมล็ดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ คุณภาพของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองยังขึ้นกับสภาพการเก็บรักษาอีกด้วย สภาพที่ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ของบรรยากาศที่ระดับ 45 เปอร์เซ็นต์สามารถเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ให้คงคุณภาพได้ดีที่สุด ในทางตรงกันข้ามเมื่อความชื้นสัมพัทธ์ของสภาพเก็บรักษาเพิ่มสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพเร็วที่สุด