บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของอัตราปลูกที่มีต่อผลผลิต คุณภาพเมล็ดพันธุ์ และความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

อรุณวรรณ วงศ์มณีโรจน์

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต(เกษตรศาสตร์) สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2534. 82 หน้า.

2534

บทคัดย่อ

อิทธิพลของอัตราปลูกที่มีต่อผลผลิต คุณภาพเมล็ดพันธุ์ และความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง

                ปลูกถั่วเหลืองพันธุ์ นว.1  และ สจ.4  ที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดข้าวฟ่างแห่งชาติ  อำเภอปากช่อง  จังหวัดนครราชสีมา  ในฤดูฝนปี  2532  โดยใช้อัตราปลูก 3 อัตรา คือ  200,000,  400,000  และ 600,000  ต้นต่อเฮกตาร์  ศึกษาความสูง,  น้ำหนักแห้งของต้น,  จำนวนใบต่อต้น,  ผลผลิตและองค์ประกอบของผลผลิตและตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในห้องปฏิบัติการ  โดยตรวจสอบความงอกมาตรฐาน  ตรวจสอบความแข็งแรงด้วยวิธีการเร่องอายุ  วัดค่าการนำไฟฟ้า  ความชื้นของเมล็ด  ทดสอบสุขภาพเมล็ดพันธุ์โดยการตรวจเชื้อราที่ติดมากับเมล็ดพันธุ์  ทดสอบเปอร์เซ็นต์เมล็ดเขียวและทดสอบความอ่อนแอของเมล็ดต่อแรงกระแทก  หลังจากนั้นนำเมล็ดพันธุ์ไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา  8 เดือน  เพื่อเปรียบเทียบ  ความงอก  และความแข็งแรงของเมล็ดทุกเดือนระหว่างการเก็บรักษาและได้ทำการทดลองซ้ำอีกครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน  ในฤดูฝนปี 2533  เพื่อศึกษาถึงผลผลิตและองค์ประกอบของผลผลิตและตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์

            ผลการทดลองจากการปลูกที่ปากช่องพบว่า  การเพิ่มอัตราปลูกจาก 200,000  เป็น  400,000  ต้นต่อเฮกตาร์  มีผลทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น  แต่การเพิ่มอัตราปลูกจาก 400,000  เป็น  600,000  ต้นต่อเฮกตาร์  ไม่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น  ส่วนผลการทดลองจากการปลูกที่กำแพงแสนพบว่าอัตราปลูกที่ 400,000 ต้นต่อเฮกตาร์  ให้ผลผลิตสูงที่สุด  และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างพันธุ์  พบว่าพันธุ์  นว.1  ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ สจ.4  จากการปลูกทั้งที่ปากช่องและกำแพงแสน

            หลังจากนำเมล็ดมาตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในห้องปฏิบัติการพบว่า  การเปลี่ยนแปลงอัตราปลูกไม่มีผลทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอก  ความแข็งแรง  และความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองแตกต่างกันแต่อย่างใด  แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างพันธุ์พบว่า  พันธุ์ สจ.4 มี เปอร์เซ็นต์ความงอกและความแข็งแรงสูงกว่าพันธุ์ นว.1  ซึ่งการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ระหว่างการเก็บรักษาก็ให้ผลการทดลองเช่นเดียวกัน  (ความงอกของเมล็ดพันธุ์ลดลงอย่างรวดเร็วหลังการเก็บรักษาเป็นเวลา  6 เดือน)

            จากการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า  อัตราปลูกที่เหมาะสมคือ  400,000 ต้นต่อเฮกตาร์  เนื่องจากให้ผลผลิตสูงและให้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพไม่แตกต่างไปจากการปลูกที่อัตราปลูก 200,000 และ 600,000  ต้นต่อเฮกตาร์