บทคัดย่องานวิจัย

อิทธิพลของความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ที่มีต่อความงอกในไร่ การเจริญเติบโต ผลผลิต และความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโต

จุฑามาศ ร่มแก้ว

วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เกษตรศาสตร์) สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2539. 169 หน้า.

2539

บทคัดย่อ

อิทธิพลของความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ที่มีต่อความงอกในไร่ การเจริญเติบโต ผลผลิต และความสามารถในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโต

                การศึกษาอิทธิพลของความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ที่มีต่อความงอกในไร่  การเจริญเติบโต  ผลผลิตและความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงเมล็ดโต  โดยใช้ถั่วลิสง 2 พันธุ์ คือ พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50  และเกษตร 1  ที่มีความแข็งแรง  สูง  ปานกลาง  และต่ำ  ร่วมกับใช้อัตราปลูก 1,  2  และ 3 เมล็ดต่อหลุม  ผลการทดลองพบว่า  เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่มีความแข็งแรงสูงมีความงอกในไร่ที่ 7,  14  และ 21 วัน  สูงกว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีความแข็งแรงต่ำ  เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงที่มีความแข็งแรงสูง  มีการเจริญเติบโตในระยะแรกดีกว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีความแข็งแรงต่ำ  ซึ่งมีผลต่อความสูงและการสะสมน้ำหนักแห้งในระยะ 30-60 วันหลังปลูก  แต่เมื่อพ้นระยะนี้ไปแล้วอิทธิพลของความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ไม่มีผลต่อลักษณะดังกล่าว  และความแข็งแรงของเมล็ดพันธุ์ไม่มีผลต่อวันออกดอก  องค์ประกอบผลผลิต  และผลผลิตฝักและเมล็ด  แต่การใช้อัตราปลูกที่แตกต่างกัน  มีผลทำให้ผลผลิตแตกต่างกันคือ  การใช้อัตราปลูก 2 และ 3  เมล็ดต่อ้หลุมให้ผลผลิตสูงกว่าการใช้อัตราปลูก  1 เมล็ดต่อหลุม  และจากการตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธ์ถั่วลิสง  ซึ่งเก็บรักษาไว้เป็นเวลา  6  เดือน  ที่อุณหภูมิห้อง  และที่อุณหภูมิ 20  องศาเซลเซียส  ความชื้นสัมพัทธ์ 50 เปอร์เซ็นต์  โดยวิธีการวัดความงอกมาตรฐาน  ดัชนีการงอกของเมล็ดพันธุ์  การเร่งอายุของเมล็ดพันธุ์  น้ำหนักแห้งของต้นกล้า  ความชื้นของเมล็ดพันธุ์  และการวัดค่าการนำไฟฟ้าเพื่อพยากรณ์ความมีชีวิตของเมล็ดพันธุ์โดยใช้เครื่องพยากรณ์คุณภาพอัตโนมัติ  ASA-610  พบว่า  เมล็ดพันธุ์ที่มีความแข็งแรงสูง  มีความสามารถในการเก็บรักษาดีกว่าเมล็ดพันธุ์ที่มีความแข็งแรงปานกลางและต่ำ  นอกจากนี้การเร่งอายุของเมล็ดพันธุ์สามารถประเมินความงอกในไร่  และความสามารถในการเก็บรักษาของเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงได้ดี