แนวทางที่เหมาะสมสำหรับการอบแห้งถั่วเหลืองโดยเทคนิคฟลูอิไดเซชัน
วิวัฒน์ วุฒิวิวัฒน์ชัย
วิทยานิพนธ์ (วศ.ม. เทคโนโลยีพลังงาน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2540. 94 หน้า.
2540
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อหาแนวทางการอบแห้งถั่วเหลืองโดยเทคนิคฟลูอิไดเซชัน โดยพิจารณาถึงตัวแปรต่าง ๆ ที่มีผลต่ออัตราการอบแห้ง และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ได้พัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมในการอบแห้งถั่วเหลือง ทำการทดลองอบแห้งถั่วเหลืองในเครื่องอบแห้งฟลูอิไดซ์เบดแบบงวดที่อุณหภูมิอากาศก่อนเข้าห้องอบแห้ง 110-140OC ความชื้นเริ่มต้นร้อยละ 24.7 - 33.3 (มาตรฐานแห้ง) ความสูงเบด 10-15 cm และความเร็วของอากาศอบแห้ง 2.4 - 4.1 m/s จากการทดลองพบว่า ตัวแปรที่มีผลต่ออัตราการอบแห้งได้แก่ อุณหภูมิอากาศก่อนเข้าห้องอบแห้ง และอัตราการไหลจำเพาะของอากาศ และยังพบว่า Page’s model มีความเหมาะสมมากที่สุดที่จะใช้อธิบายผลการทดลองร้อยละของการร้าวและร้อยละของการแตก เพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิอบแห้ง อย่างไรก็ตาม การอบแห้งถั่วเหลืองที่อุณหภูมิ 140OC ไม่ทำให้ร้อยละของการแตกสูงเกินกว่ามาตรฐานการรับซื้อของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และสามารถใช้แบบจำลอง Logistic Equation อธิบายผลการทดลองได้สอดคล้องพอสมควร การอบแห้งถั่วเหลืองที่อุณหภูมิสูงไม่ทำให้โปรตีนในถั่วเหลืองลดลง การลดปริมาณสาร Trypsin Inhibitor โดยเทคนิคฟลูอิไดเซชันที่ความชื้นสูงให้มีค่าตามมาตรฐานที่ยอมรับได้ จะต้องใช้อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 120OC ผลการวิเคราะห์ค่า Urease Activity และค่า Protein Solubiligy ของถั่วเหลืองความชื้นต่ำที่ผ่านกระบวนการให้ความร้อนโดยเทคนิคฟลูอิไดเซชัน พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เครื่องอบแห้งแบบฟลูอิไดซ์เบด ในการให้ความร้อนแก่ถั่วเหลืองเพื่อลดปริมาณสารขัดขวางโภชนาการ โดยคุณภาพในด้านโปรตีนที่ใช้ประโยชน์ได้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ การหาแนวทางที่เหมาะสมของการอบแห้งถั่วเหลืองโดยเทคนิคฟลูอิไดเซชัน โดยการจำลองสภาวะการทำงานของระบบ พบว่า ความชื้นสุดท้ายของถั่วเหลืองไม่ควรต่ำกว่าร้อยละ 23.5 (มาตรฐานแห้ง) เพื่อไม่ให้ร้อยละของการร้าวสูงเกินไป และสภาพวะที่เหมาะสมในการดำเนินการ โดยคำนึงถึงอัตราการผลิต ความสิ้นเปลืองพลังงาน และค่าใช้จ่ายในการอบแห้ง ควรดำเนินการอบแห้งที่อุณหภูมิอากาศ 140OC ความสูงเบด 18 cm ความเร็วอากาศร้อน 2.9 m/s อัตราส่วนการเวียนอากาศกลับ 0.9 ซึ่งการอบแห้งที่สภาวะดังกล่าวจะเสียค่าใช้จ่ายในการอบแห้ง 2.38 บาทต่อกิโลกรัมน้ำที่ระเหย