การจัดการข้าวโพดชื้นโดยการอบแห้งแบบฟลูอิไดเซชัน, การเทมเปอร์ และการเป่าอากาศแวดล้อม
พงศ์เทพ โชติจักรดิกุล
วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (เทคโนโลยีการจัดการพลังงาน) คณะพลังงาน สิ่งแวดล้อมและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, กรุงเทพฯ. 2540. 115 หน้า.
2540
บทคัดย่อ
จุดประสงค์ในงานวิจัยนี้ เพื่อศึกษาแนวทางการลดความชื้นของข้าวโพดหลังการเก็บเกี่ยวอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มตั้งแต่การอบแห้งอย่างรวดเร็วด้วยเทคนิคฟลูอิไดเซชัน ตามด้วยการเก็บในที่อับอากาศที่อุณหภูมิของเมล็ดหลังการอบแห้ง และการเป่าอากาศแวดล้อมเข้าในกองเมล็ด ข้าวโพด ตามลำดับ โดยพิจารณาถึงปริมาณความชื้นของข้าวโพดที่สามารถลดลงได้ และคุณภาพของผลิตภัณฑ์
คุณภาพของข้าวโพดพิจารณาจากเปอร์เซ็นต์การร้าว เปอร์เซ็นต์การปริแตก และสีของเมล็ด จากการทดลอง พบว่า การร้าวหลายแนวของเมล็ดข้าวโพดหลังการอบแห้งขึ้นอยู่กับค่าความชื้นสุดท้ายของเมล็ดข้าวโพดและไม่ควรมีค่าต่ำกว่า 18.0 %w.b การเก็บเมล็ดข้าวโพดหลังการอบแห้งในที่อับอากาศมีส่วนช่วยทำให้คุณภาพของเมล็ดข้าวโพดที่ผ่านการอบแห้งด้วยเทคนิคฟลูอิไดเซชันดีขึ้น โดยมีระยะเวลาที่เหมาะสมประมาณ 40 นาที และการเป่าอากาศแวดล้อมผ่านกองเมล็ดข้าวโพดสำหรับสภาวะที่ใช้ในการทดลองในช่วงความเร็วของอากาศแวดล้อม 0.075 – 0.375 m/s พบว่า ความเร็วอากาศแวดล้อมที่เหมาะสมมีค่าประมาณ 0.150 m/s (300 m3 /min- m3 corn ที่ความสูงเบด 3.0 cm) เพื่อให้ได้เมล็ดข้าวโพดที่ผ่านกระบวนการทั้งหมดมีความชื้นสุดท้ายประมาณ 13.0 – 14.5 % w.b. โดยมีค่าการปริแตกและการร้าวของเมล็ดข้าวโพดไม่เกิน 2 และ 5 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ตามลำดับ และสีของเมล็ดข้าวโพดไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติมากนัก