การพัฒนาเครื่องอบแห้งเมล็ดข้าวโพดแบบฟลูอิไดซ์เบดระดับอุตสาหกรรม
คมกฤช กิตติพร
วิทยาพนธ์ (วศ.ม. เทคโนโลยีการจัดการพลังงาน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2539. 114 หน้า.
2539
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบและทดสอบเครื่องอบแห้งเมล็ดข้าวโพดที่ช่วงความชื้นสูง โดยวิธีฟลูอิไดซ์เบดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะพิจารณาที่อัตราการผลิตสูง ความสิ้นเปลืองพลังงานต่ำ คุณภาพของข้าวโพดที่ได้อยู่ในเกณฑ์ดี จากการทดลองอบแห้ง สามารถลดความชื้นเริ่มต้นของเมล็ดข้าวโพดได้จาก 40 % มาตรฐานแห้ง ให้เหลือความชื้นสุดท้าย 26 % มาตรฐานแห้ง โดยเมล็ดข้าวโพดจะอยู่ในห้องอบแห้งนานประมาณ 4.3 นาที ใช้อุณหภูมิในการอบแห้ง 160OC ความสูงของ Weir 15 cm ความเร็วของกระแสอากาศร้อนในห้องอบแห้ง 2.96 m/s โดยใช้อัตราการป้อน 1,860 kg/h อัตราการเวียนอากาศกลับมาใช้ใหม่ 78.2 % ใช้กำลังไฟฟ้า 16.31 kW/h และน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซล 24 1/h จะสิ้นเปลือง พลังงานปฐมภูมิ 1,028 MJ/h แยกเป็นพลังงานไฟฟ้าในรูปพลังงานปฐมภูมิ 152 MJ/h และความร้อน 876 MJ/h มีความสามารถระเหยน้ำได้ 186 kg-water evap./h มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานปฐมภูมิ 5.5 MJ/kg-water evap. หากมีการใช้งาน 12 ชั่วโมงต่อวัน (ใน 1 ปี ทำการอบแห้ง 90 วัน) จะมีค่าใช้จ่ายในการอบแห้งเมล็ดข้าวโพด 1.75 บาทต่อกิโลกรัมน้ำที่ระเหย แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างเครื่องอบแห้ง 0.38 บาท ต่อกิโลกรัมน้ำที่ระเหย และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอบแห้ง 1.37 บาทต่อกิโลกรัมน้ำที่ระเหยจากการพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อใช้ทำนายผลการอบแห้ง พบว่าสามารถทำนายอัตราการอบแห้งและพลังงานได้ดีในช่วงความชื้นเริ่มต้นสูง ส่วนในช่วงความชื้นเริ่มต้นต่ำผลการทำนายความชื้นสุดท้ายจะต่ำกว่าผลการทดลองประมาณ 2.1 – 4.5 % มาตรฐานแห้ง