การอบแห้งผลไม้โดยใช้ปั๊มความร้อนสำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก
วรบูรณ์ แก้วอัสดร
วิทยานิพนธ์ (วศ.ม. เทคโนโลยีการจัดการพลังงาน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, 2543. 116 หน้า.
2543
บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้เป็นการออกแบบ สร้าง และประเมินสมรรถนะเครื่องอบแห้งสำหรับผัก และผลไม้โดยใช้ปั๊มความร้อน ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ซึ่งมีความสามารถในการอบแห้งผักและผลไม้ได้ครั้งละประมาณ 80-100 กิโลกรัม โดยส่วนของห้องอบแห้งบรรจุรถเข็น 1 คัน จำนวน 12 ถาด ระบบปั๊มความร้อนใช้สาร R-22 เป็นสารทำความเย็น คอมเพรสเซอร์ ขนาด 1.3 กิโลวัตต์ เครื่องทำระเหยขนาด 3.7 กิโลวัตต์ เครื่องควบแน่นตัวในขนาด 4.6 กิโลวัตต์ เครื่องควบแน่นตัวนอกขนาด 2.2 กิโลวัตต์ และมอบเตอร์พัดลมหลักขขนาด 0.75 กิโลวัตต์ การทดลองทำในระบบปิดอุณหภูมิอากาศร้อนที่ใช้ในการอบแห้ง 53 องศาเซชเซียส อัตราการไหลของอากาศ 0.54 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สัดส่วนของอากาศที่ไหลข้ามเครื่องทำระเหย 78 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำการอบแห้งผักและผลไม้ชนิดต่าง ๆ ได้แก่ สับปะรด, ถั่วงอก, กะหล่ำปลี และกล้วยน้ำว้า
ผลการทดลองอบแห้งสับปะรดจำนวน 44.4-90 กิโลกรัม ใช้เวลาประมาณ 40-55 ชั่วโมงจากความชื้นเริ่มต้น 641-767 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง จนเหลือความชื้อสุดท้าย 17-21 เปอร์เซ็นต์ มาตรฐานแห้ง การทดลองถั่วงอก 24.6 กิโลกรัม ใช้เวลาในการอบ 21 ชั่วโมง จากความชื้นเริ่มต้น 1872 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง จนเหลือความชื้นสุดท้าย 16.8 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง การทดลองอบกะหล่ำปลี 21.32 กิโลกรัม ใช้เวลาในการอบ 20 ชั่วโมง จากความชื้นเริ่มต้น 1590 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้งจนเหลือความชื้นสุดท้าย 17.6 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง และการทดลองอบกล้วยน้ำว้า แบ่งการทดลองออกเป็น 2 ช่วง น้ำหนักเริ่มต้น 98.2 กิโลกรัม ใช้เวลาในการอบทั้งหมด 55 ชั่วโมง โดยความชื้นเริ่มต้น 287 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง อบจนเหลือความชื้นสุดท้าย 57.8 เปอร์เซ็นต์มาตรฐานแห้ง จากการทดลองพบว่าภายในห้องอบแห้งมีการกระจายอุณหภูมิของลมร้อนสม่ำเสมอตลอดทั้งตู้อบแห้ง อัตราการอบแห้ง และ SMER จะมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อปริมาณผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นใกล้กับพิกัดความจุสูงสุดของเครื่องอบแห้ง ซึ่งได้ค่าสูงสุดเท่ากับ 1.95 กิโลกรัมน้ำระเหยต่อชั่วโมง และ 0.995 กิโลกรัมน้ำระเหยต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ตามลำดับสำหรับค่าความสิ้นเปลืองพลังงานจำเพาะต่ำสุดเท่ากับ 3.62 เมกะจูลต่อกิโลกรัมน้ำระเหย และจะมีการใช้พลังงานลดลงเมื่อเครื่องอบแห้งทำงานที่เต็มความจุของเครื่องอบแห้ง ค่า COPhp มีค่าระหว่าง 4.53-4.99 ค่าเปอร์เซ็นต์สัดส่วนความร้อนที่ระบายจากเครื่องควบแน่นตัวในต่อความร้อนที่ระบายจากเครื่องควบแน่นทั้งหมด ซึ่งมีค่าระหว่าง 73 – 89 % การใช้อุณหภูมิในการอบแห้งไม่สูงทำให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์มีคุณภพอยู่ในเกณฑ์ดี จากการประเมินค่าใช้จ่ายในงานวิจัยนี้ พบว่าค่าใช้จ่ายในการอบแห้งผักและผลไม้ มีค่าระหว่าง 6.94-9.33 บาทต่อกิโลกรัมน้ำระเหย โดยแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างเครื่องมีค่าระหว่าง 2.18-2.99 บาทต่อกิโลกรัมน้ำระเหย ค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานไฟฟ้ามีค่าระหว่าง 4.2-6.33 บาทต่อกิโลกรัมน้ำระเหย และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษามีค่าระหว่าง 0.42-0.57 บาทต่อกิโลกรัมน้ำระเหย